ปลัด อว. เปิดตัวระบบ “COMMU MAX” นวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐที่เชื่อมต่อเป็นเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ยกระดับการสื่อสารของภาครัฐ
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานแถลงข่าว เปิดตัวหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ COMMU MAX โดย ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานในพิธีกล่าวเปิดงานและเปิดตัวหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ COMMU MAX พร้อมกล่าวถึงการผลักดันวิสัยทัศน์ของกระทรวง อว. และการนำไปปรับใช้กับโครงการอื่น ๆ ต่อในอนาคต โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงานถึง พันธกิจและวิสัยทัศน์ของกระทรวง อว. และที่มาของโครงการและหลักสูตร Commu Max พร้อมด้วย ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้ช่วยอธิการบดี (ฝ่ายการนักศึกษา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการ TUXSA MBA (Business Innovation) หัวหน้าโครงการวิจัย ซึ่งมีคณะผู้บริหาร ผู้เข้าร่วมอบรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวง อว. และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ชั้น 1 อาคาร วช. 8. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวง อว. ได้จัดตั้งขึ้นในปี 2562 โดยมีภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งในการส่งเสริมสนับสนุน ให้ดำเนินการวิจัย และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง มีโครงการใหม่ ๆ ที่น่าสนใจภายใต้การดูแลของ อว. หลายโครงการ ทั้งโครงการที่ดำเนินการสำเร็จลุล่วงแล้ว และที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ อาทิ โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย หรือ Thai MOOC โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ โครงการ U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบลและโครงการสุดยอดนวัตกรรมประเทศไทยระดับภูมิภาค “นิลมังกรแคมเปญ” เป็นต้น
ทั้งนี้ที่ผ่านมา ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบาย กิจกรรม โครงการ และมาตรการต่าง ๆ ที่กระทรวงได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นที่รับรู้แพร่หลายในวงไม่กว้างนัก ทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่กระทรวง อว. และหน่วยงานในสังกัดต่าง ๆ ต้องการที่จะส่งสารไปถึง ทำให้ขาดการรับรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมความก้าวหน้าใหม่ ๆ ที่ อว. ผลักดันให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม รวมไปถึงการขาดความเข้าใจในวิสัยทัศน์ พันธกิจ และบทบาทหน้าที่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่งผลต่อการมีส่วนร่วม และไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการที่กระทรวง อว. ดำเนินการเท่าที่ควร ซึ่งข้อจำกัดนี้ก็เป็นปัญหาสำคัญของการสื่อสารประชาสัมพันธ์ของอีกหลายหน่วยงานในภาครัฐเช่นกัน กระทรวง อว. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ทวีความสำคัญจนกลายเป็นช่องทางหลักของการสื่อสารของสังคมไทยในปัจจุบัน
อว. ได้ริเริ่มให้มีโครงการหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ COMMU MAX ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. เพื่อพัฒนาโมเดลการสื่อสารและเนื้อหาการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรของภาครัฐให้มีแนวคิด ความรู้ความเข้าใจ ทักษะ และเครื่องมือในการบริหารจัดการ วางแผน และสร้างสรรค์สื่อประชาสัมพันธ์ของแต่ละองค์กรหรือหน่วยงาน ให้สามารถเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่ถูกต้อง ตรงประเด็น มีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์สื่อที่เชื่อมโยงกับความสนใจและรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ เพื่อสร้างการบอกต่อข้อมูลข่าวสาร โครงการ งานวิจัยต่าง ๆ ของกระทรวงได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งขอขอบคุณและให้กำลังใจบุคลากรกว่า 90 คนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. กว่า 30 หน่วยงานที่ให้ความร่วมมือและสนใจเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ให้เกิดการพัฒนาการสื่อสารในหน่วยงานของท่าน ตลอดจนในระดับกระทรวงในภาพรวม เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด และหวังว่าจะได้เห็นงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เช่นนี้ต่อไปอีกในอนาคต
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันที่นวัตกรรมการสื่อสารได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โครงการและนโยบายที่เป็นประโยชน์ ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม วช. จึงได้รับเอาวิสัยทัศน์นี้มาเป็นภารกิจโดยสนับสนุนให้จัดตั้งโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาแนวคิดโมเดลการสื่อสารสำหรับภาครัฐ และหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรในฝ่ายการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรของหน่วยงานที่เข้าร่วมอบรม ให้สามารถประยุกต์ใช้โมเดลเพื่อยกระดับการสื่อสารในแต่ละองค์กร โดยมี ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้ช่วยอธิการบดี (ฝ่ายการนักศึกษา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการ TUXSA MBA (Business Innovation) เป็นหัวหน้าโครงการ ผู้นำทีมวิจัยในการพัฒนาหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ COMMU MAX โดยหลักสูตรในครั้งนี้ เริ่มจากการบุคลากรภายในกระทรวง อว. และหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ก่อน ถือเป็นหลักสูตรนำร่องซึ่งอาจพัฒนาต่อยอดไปสู่หน่วยงานภาครัฐในส่วนอื่น ๆ ต่อไป
โดยหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ COMMU MAX ในครั้งนี้ ประกอบด้วยกิจกรรม 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การอบรมในรูปแบบ Workshop จำนวน 3 ครั้ง เพื่อวางรากฐานการวางแผนงานสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐ โดยปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการสื่อสารทางเดียวจากข้อมูลที่องค์กรต้องการบอกเล่า ให้เป็นการสื่อสารที่เชื่อมโยงกับความสนใจและรับฟังความคิดเห็นของผู้รับสาร หรือกลุ่มเป้าหมายเป็น สำคัญ มีการให้ความรู้และเสริมทักษะ ในการสร้างสรรค์สื่อที่มีคุณภาพ และสอดแทรกการใช้เทคโนโลยี AI และเครื่องมือ Social Listening เพื่อให้บุคลากรภาครัฐสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนที่ 2 มีการทดลองประยุกต์ใช้ความรู้มาพัฒนาการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบการแข่งขันโดยแบ่งกลุ่มผู้เข้าอบรมเป็น 10 กลุ่ม เพื่อทดลองผลิตและเผยแพร่ชิ้นงานจริง เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยทีมที่ทำผลงานได้ดีที่สุด 3 อันดับ จะได้รับประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติจากทางกระทรวง อว. และได้ร่วมแสดงผลงานในงานวันปิดหลักสูตรต่อไป
สำหรับการอบรมหลักสูตร Commu Max ในครั้งนี้ ได้ออกแบบให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ เน้นการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองทั้งรายบุคคลและกระบวนการกลุ่ม พร้อมนำเสนอและวิพากษ์ผลงาน เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์จากการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรม จำนวน 90 คน ประกอบด้วยบุคลากรทั้งในระดับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานต่าง ๆ ของหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวง อว. กว่า 30 หน่วยงาน หวังว่าทุกท่านจะสามารถใช้ความรู้และแนวคิดการประชาสัมพันธ์ที่ได้รับจากในโครงการนี้ ไปพัฒนาต่อยอดสื่อสารข้อมูลข่าวสารในการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงาน และเป็นบุคลากรคุณภาพที่ช่วยยกระดับการสื่อสารโดยรวมของกระทรวง อว. ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ด้าน ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้ช่วยอธิการบดี (ฝ่ายการนักศึกษา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการ TUXSA MBA (Business Innovation) หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า สำหรับหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ ที่เรียกว่า “COMMU MAX” นั้น เป็นการปรับแนวคิดและสร้างโมเดลการทำสื่อประชาสัมพันธ์ หลักสูตรนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้และใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น AI และ Social Listening Tools เข้ามามีส่วนช่วยในการวางแผนและจัดทำสื่อเพื่อยกระดับให้งานประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐมีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นด้วยโดยจะเน้นผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้เน้นการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง
สำหรับการอบรมหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ Commu Max ในครั้งนี้ ในฐานะหัวหน้าหลักสูตรและเป็นหนึ่งในบุคลากรของกระทรวง อว. ทีมนักวิจัยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในครั้งนี้ จะสามารถสื่อสารข้อมูลข่าวสารในการดําเนินงานโครงการต่าง ๆ เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์องค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถผลิตและเผยแพร่สื่อดิจิทัลในการประชาสัมพันธ์รวมทั้งสามารถใช้สื่อและสื่อสารมวลชนในยุคดิจิทัล เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจและสามารถเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้อย่าง มีคุณภาพยิ่งขึ้น และสามารถนำผลจากการอบรมในครั้งแรกนี้ ไปให้พัฒนาต่อยอดหลักสูตร Commu Max ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป