สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ ทรงเปิดงานประชุมวิชาการระดับโลกด้านเครื่องเร่งอนุภาค IPAC’22 จัดโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการสนองแนวพระราชดำริ ฯ ความก้าวหน้าทางด้านเครื่องเร่งอนุภาคของประเทศไทย และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านเครื่องเร่งอนุภาค 13th International Particle Accelerator Conference หรือ IPAC’22 โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และ ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ ประธานคณะกรรมการบริหารการจัดงาน IPAC’22 เฝ้ารับเสด็จฯ
ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ ประธานคณะกรรมการบริหารการจัดงาน IPAC’22 กล่าวว่า “สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ในนามประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านเครื่องเร่งอนุภาค 13th International Particle Accelerator Conference หรือ IPAC’22 ระหว่างวันที่ 12-17 มิถุนายน 2565 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับโลกทางด้านเครื่องเร่งอนุภาคนี้ IPAC2022 เป็นการประชุมวิชาการด้านเครื่องเร่งอนุภาคที่มีความสำคัญและใหญ่ที่สุดของโลก และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยเวียนการเป็นเจ้าภาพใน 3 ทวีป คือ เอเชีย(รวมออสเตรเลีย) ยุโรป และอเมริกาเหนือ-อเมริกาใต้ สำหรับปีนี้เป็นวาระของทวีปเอเชีย และประเทศไทยโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเข้ารับการแข่งขัน และได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานครั้งที่ 13 นี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งนักวิชาการ และผู้สนใจจากหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร และผู้ประกอบการด้านเครื่องเร่งอนุภาค”
Dr.Hitoshi Tanaka, IPAC2022 Scientific Program Committee Chair จาก Institute of Physical and Chemical Research (RIKEN) ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า “ในนามตัวแทนของบริษัท ริเก้น (RIKEN) องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Research Organization for Information Science and Technology-RIST) ของญี่ปุ่น ที่เป็นสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์ประมาณ 3,000 คนใน 7 วิทยาเขตทั่วญี่ปุ่น รู้สึกยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีการรวมตัวจัดงานประชุมระดับนานาชาติ International Particle Accelerator Conference หรือ IPAC2022 ซึ่งเป็นงานประชุมวิชาการนานาชาติทางด้านเครื่องเร่งอนุภาค ที่รวมนักวิทยาศาสตร์จากทั่วทุกมุมโลก ถือเป็นโอกาสอันดีที่นักวิทยาศาสตร์จากทั่วทุกมุมโลกมาอัพเดทงานวิจัยด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค เทคโนโลยีแม่เหล็ก เทคโนโลยีสุญญากาศ และเทคโนโลยีระบบ เพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้ก้าวล้ำมากยิ่งขึ้นในอนาคต”
นอกจากนี้ยังได้มีการบรรยายโดย Dr. Chris Polly นักฟิสิกส์ จาก Fermi National Accelerator Laboratory (Fermilab) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเรื่อง Growing Expectations for New Physics และ ดร.ประไพวรรณ สันวงศ์ หัวหน้าส่วนวิจัยและพัฒนาเครื่องเร่งอนุภาค สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) บรรยายเรื่อง SPS-II: A 4th Generation Synchrotron Light Source in Southeast Asia
จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการ โครงการสนองแนวพระราชดำริ ฯ โดยตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ ได้เสด็จเยือนห้องปฏิบัติการฟิสิกส์พลังงานสูงและห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอนในหลายประเทศทั่วโลก และทรงนำให้เกิดด้านความร่วมมือการวิจัยฟิสิกส์พลังงานสูงกับสถาบันต่างประเทศต่างๆ นิทรรศการความก้าวหน้าทางด้านเครื่องเร่งอนุภาคของประเทศไทย โครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 พันล้านอิเล็กตรอนโวลต์ (GeV) ซึ่งจะสร้างขึ้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จ.ระยอง คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศอีกไม่ต่ำกว่าปีละ 6,000 ล้านบาท และนิทรรศการกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
ภายในงาน IPAC’22 มีการนำเสนอข้อมูลล่าสุดของการวิจัยและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเครื่องเร่งอนุภาคทั่วโลก รวมทั้งการนำงานวิจัย เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้จริงในห้องปฏิบัติการ และในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนานักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย เยาวชนรุ่นใหม่ให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์แสงซินโครตรอน เทคโนโลยีด้านเครื่องเร่งอนุภาค และตระหนักถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ โดยมีผู้ส่งบทคัดย่องานวิจัยมากกว่า 1,900 เรื่อง มีผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศประมาณ 1,200 คน และการแสดงสินค้าของผู้ประกอบการทางด้านเครื่องเร่งอนุภาคประมาณ 60 บูท