วช. หนุนทีมวิจัย ม.ราชภัฏพระนครพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัฒนธรรมชาวไทยทรงดำ จ.สุพรรณบุรี เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนมุ่งสู่ความยั่งยืน

เวทีวิจัย

วช. หนุนทีมวิจัย ม.ราชภัฏพระนคร ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัฒนธรรมของชาวไทยทรงดำ จ.สุพรรณบุรี พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้คืนสู่ชุมชน หวังอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยทรงดำ และเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน

​ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง

          ​ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาได้จริง ทั้งเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคม เชิงชุมชน และเชิงนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน วช. จึงได้สนับสนุนทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจำปีงบประมาณ 2564 ให้กับโครงการวิจัย“ กระบวนการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากวัฒนธรรมของชาวไทยทรงดำสู่การใช้ประโยชน์และสร้างความยั่งยืนของชุมชน ปี 2564 ”  โดยมี “ผศ.รุจิราภา งามสระคู” แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร  เป็นหัวหน้าโครงการ  เพื่อศึกษาองค์ความรู้ และภูมิปัญญาของชาวไทยทรงดำ ที่ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีการนำเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมการแต่งกายมาออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน โดย วช. ได้สนับสนุนให้มีการนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาเข้ากระบวนการจัดการความรู้ให้เป็นระบบ และมีชุดข้อมูลที่มีความพร้อมก่อนการนำไปถ่ายทอดขยายผลให้สามารถออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น

​            ผศ.รุจิราภา งามสระคู  ประธานสาขาวิชามัลติมีเดียสถาปัตยกรรม  คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของงานวิจัยว่า  เมื่อปี  2559 ผู้วิจัยได้ศึกษาวิจัยเรื่ององค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นเมืองไทยทรงดำ ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีที่นำ “ผ้าย้อมดำ” ซึ่งเป็นเครื่องนุ่งห่มที่แสดงถึงวัฒนธรรมการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยทรงดำ มาออกแบบและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยได้รับทุนวิจัยจากโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ

​           ต่อมาปี  2561 คณะผู้วิจัยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ในปัจจุบัน) ในการศึกษาวิจัยเรื่องการออกแบบและพัฒนาต้นแบบสินค้าชุมชนจากมรดกภูมิปัญญาด้านรูปแบบตัวอักษรไทดำ ซึ่งการออกแบบเน้นตกแต่งด้วยตัวอักษรไทดำเป็นคำสั้นๆ ที่ใช้ตามเทศกาลต่าง ๆ หรือคำติดปากของคนในชุมชนนำมาแสดงเป็นตัวอักษรไทดำบน 5 ผลิตภัณฑ์ คือ พวงกุญแจตัวอักษรไทดำ นาฬิกาตัวอักษรไทดำ กระเป๋าผ้า หมอนตัวอักษรไทดำ และเสื้อ

          อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องของคณะผู้วิจัยพบว่า ชุมชนยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงวัฒนธรรมของชาวไทยทรงดำ ที่นำมิติทางวัฒนธรรมมาเพิ่มคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม โดยผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมานั้นต้องมีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยทรงดำ อีกทั้ง การเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน คณะผู้วิจัยจึงเห็นว่า วัฒนธรรมการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของชาวไทยทรงดำนั้นสามารถนำมาออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์การแต่งกายของชายและหญิงกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำได้ โดยนำไปใช้บรรจุผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น ยาหม่อง หรือ ยาดม ซึ่งเหมาะสำหรับทำเป็นของฝาก ของที่ระลึก ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย

            ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้มีการจัดกิจกรรมกระบวนการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัฒนธรรมของชาวไทยทรงดำ สู่การใช้ประโยชน์และสร้างความยั่งยืนของชุมชน ซึ่งประกอบด้วย การออกแบบและพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ตุ๊กตาไทยทรงดำ และการถ่ายทอดกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ตุ๊กตาไทยทรงดำ และการคืนข้อมูลสู่ชุมชน โดยการออกแบบและพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ตุ๊กตาไทยทรงดำ บรรจุยาดม และยาหม่อง ได้มีการรวบรวมองค์ความรู้ด้านเครื่องกายของชายและหญิงชาวไทยทรงดำมาออกแบบทั้งสิ้น 10 ชุด ซึ่งแต่ละชุดของเครื่องแต่งกายล้วนแฝงด้วยความหมายทางวัฒนธรรม ประเพณี และแบ่งประเภทการสวมใส่ตามพิธีกรรมอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ชาวชุมชนยังมีส่วนร่วมในการตั้งชื่อให้กับตุ๊กตาแต่ละแบบเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์ โดยเป็นชื่อที่ชาวไทยทรงดำนิยมใช้เรียกชื่อบุคคลตามวัยต่าง ๆ 

          การถ่ายทอดกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ตุ๊กตาไทยทรงดำ คณะผู้วิจัยได้มีการออกแบบสื่อการเรียนรู้ และมีการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีการจัดการอบรมในพื้นที่ให้กับกลุ่มเป้าหมาย และการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการตลาด และการใช้สื่อโซเชียลต่าง ๆ รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อคืนข้อมูลสู่ชุมชน ซึ่งเป็นการรายงานผลการดำเนินโครงการ และส่งมอบข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ในการผลิตตุ๊กตาไทยทรงดำ บรรจุยาดม และยาหม่อง เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ของชุมชน

            สำหรับยาดม และยาหม่องได้มีการพัฒนาสูตรที่สื่อถึงเอกลักษณ์ของชาวไทยทรงดำ โดยยาดม ยาหม่องที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ตุ๊กตาไทยทรงดำบ้านดอน ได้มีการวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้วทั้งในชุมชน และตามงานแสดงสินค้าต่าง ๆ

ตุ๊กตายาดมน้องเหน่อสัญลักลักษณ์ของจ.สุพรรณบุรีแต่งกายด้วยชุดไทยทรงดำ

            ​ในอนาคต คณะผู้วิจัยจะมีการต่อยอดพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น และมีการออกแบบและพัฒนาเครื่องมือในการผลิตให้เป็นเชิงอุตสาหกรรม เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มอาชีพตุ๊กตาไทยทรงดำบ้านดอนสามารถผลิตชิ้นงานได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพและมีมาตรฐานงานฝีมือเดียวกัน เพื่อรองรับการขยายตลาด นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดการพัฒนาสินค้าในรูปแบบตุ๊กตาดินประดิษฐ์ที่ประยุกต์ใช้รูปแบบตุ๊กตาไทยทรงดำมาผสมผสานกับแบบตุ๊กตา “น้องเหน่อ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ และอัตลักษณ์ของเมืองสุพรรณบุรี ในการประชาสัมพันธ์สินค้า บริการ และสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์และเป็นของที่ระลึกของจังหวัดสุพรรณบุรีอีกด้วย