รพ.ระยองสุดล้ำ!ใช้ริสแบนด์ RFID ระบุตัวคนไข้ฉุกเฉินเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา

ออนไซต์-ในสนาม

สวทช. จับมือ สรพ. หนุน รพ.ระยองใช้ “ริสแบนด์” ช่วยแพทย์ระบุตัวผู้ป่วยฉุกเฉิน ตอบโจทย์ “ถูกต้อง-รวดเร็ว-แม่นยำ” เตรียมก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ

            นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงแนวคิดโครงการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร ว่า สวทช. ร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ในการประสานความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลและผู้ประกอบการเทคโนโลยีด้านสุขภาพและการแพทย์ เพื่อนำนวัตกรรมมาช่วยให้ระบบงานบริการในโรงพยาบาลสะดวกและง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรการแพทย์  

           โครงการฯ นี้เริ่มเมื่อปี 2561 โดย สรพ. ได้เปิดโอกาสให้โรงพยาบาลที่มีความต้องการจะยกระดับการบริการได้ระบุปัญหาในรูปแบบข้อเสนอโครงการที่มีโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหา ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าโรงพยาบาลจะต้องมีความพร้อมที่จะนำไปใช้ให้แก้ปัญหาและเกิดประโยชน์ได้จริง จากนั้นทาง สรพ. และ สวทช. จะนำข้อเสนอโครงการมาพิจารณาคัดเลือกและจับคู่กับ นักวิจัย นวัตกรหรือผู้ประกอบการเทคโนโลยีที่ สวทช.มี เพื่อนำเทคโนโลยีไปใช้แก้ปัญหาและยกระดับการบริการตามข้อเสนอโครงการของโรงพยาบาล                                       

            ด้านแพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล หรือ สรพ. กล่าวกับ Innolifethailand ว่า สรพ. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนมาตรฐานคุณภาพการให้บริการในสถานพยาบาลทั่วประเทศ และโครงการฯ นี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข เพื่อให้โรงพยาบาลในโครงการได้พัฒนานวัตกรรมสำหรับแก้ไขปัญหา อุบัติการณ์ความเสี่ยงตามแนวทางเป้าหมายความปลอดภัย ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการลดความผิดพลาดในการทำงานของมนุษย์ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

            ขณะที่ นายเอกศักดิ์ โอศิริพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเทลลิเจ็นซ์ ซิสเท็ม คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับทีมแพทย์แผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลระยองพบว่า “ ถ้าระบุตัวคนไข้ผิด การรักษาก็จะผิดตามไปด้วย” ดังนั้น “การระบุตัวตนคนไข้ให้ถูกต้อง” ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดของการเริ่มต้นการรักษา จึงเป็นที่มาของการนำริสแบนด์ “ระบบระบุตัวตนผู้ป่วยแผนกฉุกเฉิน” (RFID Patient Tracking & Identification) มาใช้ โดยนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาช่วยวิเคราะห์ปัญหาให้ชัดเจน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และนักนวัตกรได้ร่วมคิดร่วมทำงานกัน เกิดความคิดริเริ่มในการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบหรือนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วและสอดคล้องกับบริบทปัญหาของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง

            นายแพทย์ภคพล เอี่ยมไพบูลย์พันธ์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลระยอง กล่าวว่า ริสแบนด์ “ระบบระบุตัวตนผู้ป่วยแผนกฉุกเฉิน”(RFID Patient Tracking & Identification) ประกอบด้วยข้อมูล 4 ส่วน คือ 1.ระบุตัวตนผู้ป่วย ช่วยให้ทีมแพทย์สามารถแยกประเภทผู้ป่วยได้ตั้งแต่แรก โดยแบ่งสีของริสแบนด์ตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วยเป็น สีแดง-ชมพู-เหลือง-เขียว และขาว ทำให้ลดขั้นตอนการตรวจสอบและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา 2.ติดตามการรักษา ระบบสามารถเก็บบันทึกประวัติการรักษาและประวัติความรุนแรงของผู้ป่วยเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ดูรายงานสถานะคนไข้แบบเรียลไทม์ 3. นำข้อมูลการรักษามาวิเคราะห์ เพื่อสรุปผลการทำงานและปรับปรุงพัฒนาการรักษาให้ดีขึ้น และ 4.มีหน้าแสดงผลหน้าจอ เพื่อสะท้อนภาพรวมการทำงาน  เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นและสามารถกลับบ้านได้แล้ว ทางโรงพยาบาลก็จะนำ ริสแบนด์มาลบข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วยทันที และสามารถนำริสแบนด์กลับมาใช้ซ้ำได้ถึง 200,000 ครั้ง

            ในอนาคตหากมีการขยายผลการใช้ไปยังแผนกอื่นๆ ของโรงพยาบาลแล้ว ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยลดขั้นตอนการทำงานของทีมแพทย์ ผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที และเพื่อเป็นมาตรฐานการทำงานเดียวกันทั้งโรงพยาบาล.