ETDA เปิดศูนย์ Foresight พร้อมจับมือ NIA และพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน ร่วมพัฒนาการฉายภาพอนาคตด้านดิจิทัลของประเทศไทย เผยสิ้นปีเห็นรายงานชิ้นแรกการคาดการณ์ภาพอนาคตของการทำธุรกรรมดิจิทัล ก่อนเดินหน้าเรื่องเอไอ ดิจิทัลไอดี และอินเทอร์เน็ต
วันนี้ ( 29 มิถุนายน 2565 ) ที่โรงแรม The Athenee Hotel สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ NIA และ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales Lab จัดงาน ETDA Digital Foresight Symposium 2022 “Future Ready: Advancing Thailand for Digital Forward” ขึ้น เพื่อนำเสนอผลการดำเนินโครงการวิจัยจัดทำภาพฉายอนาคตของการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย เพื่อคาดการณ์อนาคตและรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก หรือ Foresight Research พร้อมเปิดเวทีในการแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านอนาคตศาสตร์(Foresight) ทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ
ทั้งนี้ภายในงานดังกล่าว ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MoU)การส่งเสริมและสนับสนุนการคาดการณ์อนาคตและการทดสอบนวัตกรรม ระหว่างสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า Foresight คือเครื่องมือที่จะช่วยให้เรามองภาพอนาคตในยุคดิจิทัลได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเอ็ตด้า ได้มีความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนในการฉายภาพอนาคตของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ โดยในส่วนของเอ็ตด้าจะมุ่งเน้นการคาดการณ์อนาคตด้านดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งในปีนี้ เอ็ตด้าได้มีการจัดตั้งศูนย์คาดการณ์อนาคตธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ( Foresight Center by ETDA) ขึ้นเป็นปีแรก เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลเชิงวิชาการ ในการศึกษาเรื่องการฉายภาพอนาคตด้านดิจิทัลของประเทศไทย ที่จะสะท้อนภาพอนาคต เพื่อช่วยในการเตรียมตัวรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรู้เท่าทันและสอดคล้องกับสถานการณ์ได้มากขึ้น รวมถึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น เบื้องต้นทางศูนย์มีเป้าหมายการคาดการณ์ 10 ปีข้างหน้า ใน 4 ประเด็นหลักคือ ธุรกรรมดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล และอินเทอร์เน็ต
“เอ็ตด้าจะดูในภาพที่เป็นเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหลัก สิ่งสำคัญคือผลที่ได้จากกระบวนการ Foresight หรือการคาดการณ์อนาคต จะไม่ใช่แค่การนำมาทำเรื่องกฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นการมองเห็นสัญญาณในอนาคต ซึ่งเอ็ตด้า มีพันธกิจทั้งด้านการส่งเสริมและกำกับ หากเห็นสัญญาณว่าสิ่งนี้กำลังจะมา จะต้องมีการส่งเสริมก่อนที่จะไปกำกับ แต่หากเห็นสัญญาณว่ามีความเสี่ยง ก็จะเข้าไปดูว่าจะต้องมีการสร้างมาตรฐานหรือสร้างแนวทางป้องกันอย่างไร”
ด้าน ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า จากการศึกษา Foresight Research ผ่าน 4 ประเด็น ทั้งธุรกรรมดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล และอินเทอร์เน็ต พบว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ทุกประเด็นข้างต้น จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก โดยธุรกรรมดิจิทัลจะกลายเป็น “New Frontier of Barter Economy” หรือ พรมแดนใหม่ของการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ ที่ทุกการทำธุรกรรมจะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสื่อกลาง เราสามารถแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ทางดิจิทัล (เช่น NFT หรือ Non-Fungible Token เป็นต้น) ได้อย่างอิสระ หรือการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นได้ในโลกเสมือนที่อาจจะคู่ขนานไปกับโลกแห่งความเป็นจริง นำไปสู่การกำหนดกฎระเบียบหรือแนวทางใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย
นอกจากนี้ ยังมีภาพอนาคตที่เราต้องจับตาเฝ้าระวัง เพื่อหาแนวทางป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น คือ “Backlash of e-Madness” หรือ การทำธุรกรรมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผ่านตัวกลางหรือพื้นที่ที่ยากต่อการตรวจสอบและผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงหนักขึ้นกว่าเดิมก็ได้ ขณะที่ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเข้ามาสร้างให้เกิดสมดุลในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “Micro Intelligence for Everyone” ที่การใช้งานจะไม่กระจุกตัวอยู่ที่หน่วยงานหรือองค์กร แต่จะขยายไปสู่ระดับบุคคลด้วย และจะเกิด AI ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละองค์กรหรือผู้ใช้งานได้มากขึ้น (Customized AI) และจะกลายมาเป็นผู้ช่วยเราได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น ช่วยสื่อสารข้อมูลตามข้อเท็จจริง และช่วยในการตัดสินใจ เป็นต้น เนื่องจากในอนาคต AI จะก้าวข้ามขีดจำกัดของมนุษย์ จนทำงานแทนมนุษย์ได้เกือบทุกด้าน ทำให้บทบาทของมนุษย์อาจถูกลดทอนและมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วย AI อย่างเต็มรูปแบบ จนอาจส่งผลให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้น้อยลง และในที่สุดอาจจะถูกครอบงำโดย AI ได้ หรือที่เรียกว่า “Big Brain Colonization”
สำหรับในประเด็น การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล จะทำให้พวกเราก้าวสู่โลกดิจิทัล มีตัวตนบนโลกเสมือน ที่เชื่อมโยงตัวตนบนโลกแห่งความเป็นจริง โดยที่ไม่มีใครสามารถสวมรอยเป็นเราได้ หรือที่เรียกว่า “All of Us Are Digitized” แต่ในขณะเดียวกัน ในโลกเสมือนทุกคนสามารถกำหนดเพศ ศาสนา ตลอดจนความเชื่อในเชิงจริยธรรมเองได้ การรับมือกับปัญหานี้ อาจต้องมีการกำหนดแนวทาง รวมถึงกฎระเบียบที่เหมาะสมและรัดกุมมากขึ้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อและความปลอดภัยในการมีตัวตนบนโลกดิจิทัล ลดอัตราการเกิด “Battle of My Identity” หรือตัวตน ‘อวตาร’ ที่นำไปใช้ในการก่อเหตุในโลกออนไลน์และยากต่อการติดตาม
นอกจากนี้ ในประเด็นของอินเทอร์เน็ต ก็เป็นเรื่องที่จะช่วยส่งเสริม Digital Ecosystem ในประเทศไทย โดยในอนาคตอินเทอร์เน็ตจะเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดสรรให้ประชาชนได้ใช้อย่างมีคุณภาพและครอบคลุม ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ และทำให้เกิดกิจกรรมบางอย่างที่สามารถทำได้ง่ายขึ้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต เช่น การผ่าตัดทางไกลโดยใช้คนควบคุม เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังในเรื่องนี้ คือ อนาคตเราอาจพบข้อมูลมหาศาลในโลกอินเทอร์เน็ตที่อาจทำให้การตรวจสอบและการคัดกรองเป็นไปได้ยาก อาจมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ การหลอกลวงและภัยคุกคามทางไซเบอร์ จนอาจขยายเป็นภัยที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง หรือที่เรียกว่า “Algorithmic Dystopia” เป็นต้น
ดร.ตฤณ กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์คาดการณ์อนาคตธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของเอ็ตด้า ว่า แม้ประเทศไทยจะมีจัดตั้งศูนย์คาดการณ์อนาคตฯ ในหลายหน่วยงาน เช่น เอ็นไอเอ ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์คาดการณ์อนาคต ฯ เป็นหน่วยงานแรก ๆ และดำเนินงานมานาน ซึ่งไม่ได้ทำแค่เรื่องดิจิทัล แต่ยังทำเรื่องเทคโนโลยีอื่น ๆ อีกด้วย ขณะที่เอ็ตด้ามุ่งเน้นเรื่องดิจิทัล ซึ่งมองว่าไม่ได้ซ้ำซ้อน เพราะมีการทำงานในลักษณะ Consortium ที่มีการแชร์ภาพฉายอนาคต แชร์ฉากทัศน์ ซึ่งกันและกัน เพื่อให้เห็นภาพเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนใด ๆ เช่น นวัตกรรม ดิจิทัล หรือว่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทั้งหมด ก็คือภาพประเทศไทยภาพเดียวกัน
“คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ ศูนย์คาดการณ์อนาคต ฯ ของเอ็ตด้า จะสามารถจัดทำรายงานการฉายภาพอนาคตของการทำธุรกรรมดิจิทัล ได้เป็นเรื่องแรก ซึ่งจะมีการเปิดให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ โดยการทำ Foresight หรือฉายภาพอนาคต ไม่ได้ใช้แค่ทำแผนยุทธศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการเอาผลึกทุกอย่างที่เราคิดมาร่วมกันวางภาพอนาคต เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะขับเคลื่อนไปในทิศทางใด ทำให้ประเทศเกิดฉันทามติ ประชาชนสามารถใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ และมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศร่วมกัน”
ขณะที่ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือกับเอ็ตด้าในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่มีความร่วมมือด้านการคาดการณ์อนาคต เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยความร่วมมือนี้จะเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการทำคาดการณ์อนาคตทางด้านดิจิทัลร่วมกัน รวมถึงการทดสอบนวัตกรรม หรือการทำ Sandbox เพื่อให้เกิดการทำนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ ๆ ทั้งนี้อยากให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมถึงสถาบันการศึกษา ร่วมกันทำเรื่องของ Foresight หรือการคาดการณ์อนาคตมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นสิ่งที่ต้องทำตลอดเวลา เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงนวัตกรรม เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีมาเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องดิสรัปชั่น อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนความคิดความเชื่ออีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่เอ็ตด้าจะเข้าทำในเรื่องนี้ ซึ่งเป้าหมายของสถาบันมองอนาคตนวัตกรรมของ NIA คือ ต้องการให้เกิดระบบนิเวศของคนที่เป็นอนาคตศาสตร์ของทุกภาคส่วน และนำเอาภาพอนาคต หรือสัญญาณการเปลี่ยนแปลงมาแบ่งปัน และนำเครื่องมือมาใช้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรมข้อมูล ซึ่งต้องมีการทดสอบและนำไปใช้จริง ในความร่วมมือครั้งนี้จึงจำเป็นต้องมีส่วนของ Sandbox หรือการทดสอบนวัตกรรม และในที่สุด จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจดิจิทัล ไปสู่เศรษฐกิจฐานข้อมูล ซึ่งเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยเป็นสิ่งที่จำเป็น