อว.จับมือเครือ CP วิจัย 4 เรื่องหลักที่เป็นอนาคตของโลก “เนื้อสัตว์ทางเลือก – แบตเตอรี่ ชิป และยานยนต์ไฟฟ้า – อาหารเป็นยาอายุวัฒนะ – การเกษตรแห่งอนาคต” ในโครงการ “การเคลื่อนย้ายบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม” บนแพลตฟอร์ม Talent Mobility
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการการเคลื่อนย้ายบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility with C.P. Group) และโครงการพัฒนาหลักสูตรสหกิจศึกษาร่วมกับภาคเอกชน (Cooperative education by action based learning) โดยมี ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือ CP เป็นประธานในพิธีฯ ขณะที่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด.อว. และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการยกระดับและสร้างงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ที่ตอบโจทย์อนาคตประเทศไทย โดยการส่งเสริมให้บุคลากรของรัฐ ได้แก่ นักวิชาการ นักวิจัย ได้ปฏิบัติงานจริงกับภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่สร้างประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และสังคมให้กับประเทศของเรา รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรสหกิจศึกษา เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะด้านอาชีพสำหรับโลกธุรกิจยุค 4.0
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง อว. และเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือ CP ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจระดับนำของเอเชียและของโลกในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญที่จะสานพลังกันระหว่างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของ อว. กับภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และยกระดับการวิจัยไปสู่มาตรฐานระดับสากล เป็นการเปิดขุมทรัพย์ทางปัญญาและเปิดประตูสู่อนาคต แม้ อว. จะเป็นกระทรวงใหม่ ที่เพิ่งก่อตั้งมาได้ 3 ปี โดยสานพลังจาก วิทยาศาสตร์และอุดมศึกษา แต่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ก็ได้สร้างคุณอเนกอนันต์แก่ประเทศชาติ โดยใช้องค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงคนเก่งคนดีที่มีอยู่มากมายมาทำให้มีพลังที่สุด มีการสร้างความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกกระทรวง โดยเฉพาะกับภาคเอกชน ทั้งบริษัทเล็ก กลาง ใหญ่ ในขณะที่เครือซีพีก็มีบุคลากรชั้นนำ แต่ก็ยังมาใช้ทรัพยากรมนุษย์และงานวิจัยของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดีใจเพราะจะส่งผลต่อการการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
“เรากำลังเข้าสู่ยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากหน้ามือเป็นหลังมือ อว.จึงต้องเร่งทำงานวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์อันท้าทายนี้ และเราพร้อมเปิดให้ทุกกลุ่มธุรกิจ ทุกบริษัทเข้ามาสร้างความร่วมมือ ใช้ทรัพยากรที่ อว.มี เพื่อสร้างงานวิจัยที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชนและสังคมอย่างแท้จริง หมดเวลาแล้วสำหรับงานวิจัยที่อยู่บนหอคอยงาช้าง อว.จะไม่เป็นฝ่ายรับ แต่จะเป็นฝ่ายรุก เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” รมว.อว.กล่าว
ด้าน นายธนินท์ กล่าวว่า เครือ CP กำลังก้าวข้ามไปสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อเชื่อมโยงโลกไปสู่อนาคต ความร่วมมือในวันนี้ จึงเป็นก้าวย่างสำคัญของภาครัฐและเอกชนในการยกระดับและสร้างงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ ที่ตอบโจทย์อนาคตประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมให้บุคลากรของรัฐ ได้แก่ นักวิชาการ นักวิจัย ได้ปฏิบัติงานจริงกับภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่สร้างประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และสังคมให้กับประเทศของเรา สอดคล้องกับค่านิยม 3 ประโยชน์ของเครือซีพี ที่มุ่งมั่นสร้างประโยชน์เพื่อสังคมและประชาติ
“นักวิจัยของไทยเก่งเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก การร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับบุคลากรของประเทศไทยในการวิจัยเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ จะต้องเข้าใจธุรกิจ ซึ่งจะทำให้งานวิจัยสามารถนำมาใช้ได้จริง” ประธานอาวุโส เครือ CP กล่าว
สำหรับขอบเขตความร่วมมือระหว่าง อว. และ เครือ CP ประการแรกคือการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ การย้ายบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม หรือ Talent Mobility ซึ่งโครงการนี้จะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการดำเนินงานวิจัยเชิงลึกเพื่อตอบโจทย์อนาคตประเทศไทย และที่สำคัญคือการสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน งานวิจัยเชิงลึกดังที่กล่าวข้างต้น ประกอบไปด้วย 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.เนื้อสัตว์ทางเลือก (Alternative Meat ) เพื่อตอบโจทย์การบริโภคเนื้อสัตว์ให้กับผู้บริโภคแห่งอนาคต 2.แบตเตอรี่ ชิป และยานยนต์ไฟฟ้า (Battery, Chip and EV) 3.อาหารเป็นยา หรือศาสตร์แห่งอายุวัฒนะ (Longevity) และ 4.การเกษตรแห่งอนาคต( Future Farming) นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาหลักสูตรสหกิจศึกษา สำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติงานจริงกับ 3 กลุ่มธุรกิจหลักของเครือฯ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร กลุ่มธุรกิจค้าปลีก และกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อให้พร้อมรับตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต ปีละไม่น้อยกว่า 200 คน สุดท้ายคือการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยให้เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ และการตลาดผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติงานจริง