หลังจากที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือตำรวจไซเบอร์ และ AIS ร่วมกันทำงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึง กสทช. เข้าจับกุมมิจฉาชีพ ทลายแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ โดยตรวจค้น 8 จุด ทั่วกรุงเทพฯ ในพื้นที่ เขตบางนา ห้วยขวาง และลาดพร้าว พร้อมตรวจยึดหลักฐานเครื่องสัญญาณ IP PBX ที่กลุ่มมิจฉาชีพใช้เป็นเครื่องมือในการฉ้อโกงประชาชนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 กรกฎาคม 2565)
ล่าสุดได้ทำงานอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเพื่อปกป้องลูกค้าและประชาชนจากมิจฉาชีพ ช่วงค่ำวานนี้ (11 กรกฎาคม 2565) เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นจุดกระจายสัญญาณแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ โทรหลอกผู้เสียหาย 14 จุด ในพื้นที่ตำบลหนองปลาไหล อ.บางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ เครื่อง IP PBX 101 เครื่อง (ซึ่งสามารถโทรแบบอัตโนมัติ ได้เต็มประสิทธิภาพ วันละ 1,616,000 ครั้ง หรือ เดือนละ 48.48 ล้านครั้งต่อเดือน) พร้อมรวบผู้ดูแลดำเนินคดี และจะขยายผลไปสู่ผู้จ้างวานต่อไป จากการดำเนินการอย่างต่อเนื่องทำให้สะท้อนถึงการทำงานเชิงรุก เจอ จับ จริง ตั้งเป้าปกป้องลูกค้าและประชาชนจากมิจฉาชีพ นับเป็นอีกหนึ่งผลสำเร็จของการทำงานร่วมกันระหว่าง AIS ตำรวจไซเบอร์ และ กสทช รวมถึงข้อมูลสำคัญจากการแจ้งรายงานจากลูกค้า AIS และประชาชนผ่าน ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ
นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS กล่าวว่า “จากกรณีปัญหามิจฉาชีพละเมิดการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน ที่สร้างความเดือดร้อน รำคาญ ไปจนถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งปัจจุบันเกิดเพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังนั้นในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล ที่มีเป้าหมายสูงสุดคือ การปกป้องข้อมูลและการใช้งานระบบสื่อสารของลูกค้า ที่ผ่านมานอกเหนือจากการพัฒนาดิจิทัลเซอร์วิสเพื่อช่วยป้องกันภัยไซเบอร์ อาทิ AIS Secure Net , Google Family Link ที่สามารถดูแลการใช้งานโทรศัพท์มือถือให้อยู่บนความปลอดภัยจากสแปม,ฟิชชิ่ง,ไวรัสแล้ว เรายังได้ร่วมทำงานกับภาครัฐ อย่าง กสทช.และฝ่ายความมั่นคงอย่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ ผ่านบริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา”
“ดังนั้นในวันนี้ที่ฝ่ายความมั่นคง สามารถจับกุมมิจฉาชีพแก็งคอลล์เซ็นเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นผลจากการร่วมทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ โดยเอไอเอส ยินดีที่จะสนับสนุนและร่วมทำงานกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องลูกค้าและประชาชนจากมิจฉาชีพที่จะถูกดำเนินการทางกฏหมายต่อไป” นายปรัธนา กล่าวทิ้งท้าย
พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้สั่งการให้ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 นำโดย พล.ต.ต.รณชัย จินดามุข ผบก.สอท. พร้อมด้วย พ.ต.อ.เอกนิรุจฒิ์ วันสิริภักดิ์ ผกก.4 สอท.1 ได้นำกำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ เข้าตรวจค้นขยายผลกระจายสัญญาณแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ IP PBX (Internet Protocol Private Branch Exchange) ซึ่งร่วมการ สนับสนุนข้อมูลทางด้านเทคนิคของ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการภูมิภาค ภาคตะวันออก AIS และ เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจ กสทช.(พระพาย) จำนวน 5 นาย
โดยผลการตรวจค้น จำนวน 14 จุด 16 ห้องพัก สามารถตรวจยึดเครื่อง IP PBX จำนวน 101 เครื่อง, router WiFi จำนวน 46 เครื่อง และ พบผู้ต้องสงสัยที่ดูแลสถานที่ดังกล่าวได้ 1 ราย ซึ่งจะควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน ดำเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 83 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และนําเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14(1) มีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และ ความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร” ต่อไป ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- จุดที่ 1 หอพักไม่ทราบชื่อ ห้อง b7 ชั้น 2 บ้านเลขที่ 3/17 หมู่ 7 ต.หนองปลาไหล อ.บางละมุงจังหวัดชลบุรี พบ IP PBX 6 เครื่อง router WiFi ใส่ซิม 2 เครื่อง
- ที่ 2 บ้านเลขที่ 39/2 ห้องเลขที่ 6 หมู่ 7 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 6 เครื่อง router WiFi 3 เครื่อง
- จุดที่ 3 บ้านเลขที่ 37 หมู่ 7 ห้อง 22 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 6 เครื่อง router WiFi 3 เครื่อง
- จุดที่ 4 หอพักกาละแม ห้องเลขที่ 8 บ้านเลขที่ 45 หมู่ 8 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 6 เครื่อง router WiFi 3 เครื่อง
- จุดที่ 5 หอพักพัชรินทร์ บ้านเลขที่ 29/34 หมู่ 7 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 5 เครื่อง router WiFi 2 เครื่อง
- ที่ 6 บ้านเลขที่ 61 หมู่ 9 ซอยข้างตลาดอรรถพร ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 6 เครื่อง router WiFi 2 เครื่อง
- จุดที่ 7 แหวนประดับอพาร์ทเม้นท์ ชั้น 2 ห้อง 09 บ้านเลขที่ 9/6 หมู่ 8 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 6 เครื่อง router WiFi 3 เครื่อง
- จุดที่ 8 บ้านเลขที่ 76/5 ซอยสุขสมบูรณ์ หมู่ 8 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 6 เครื่อง router WiFi 2 เครื่อง
- จุดที่ 9 บ้านเลขที่ 167/5 หมู่ 8 ห้อง 4 ซอยสุขสมบูรณ์ ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 9 เครื่อง router WiFi 5 เครื่อง
- จุดที่ 10 บ้านเลขที่ 56/28 บ้านพักหนองเกตุ ห้อง b3 ตรวจพบ IP PBX 8 เครื่อง router WiFi 4 เครื่อง, ห้อง b6 ตรวจพบ IP PBX 8 เครื่อง router WiFi 4 เครื่อง
- จุดที่ 11 บ้านเลขที่ 141 หมู่ 3 ซอยมอบบอล 2 ห้อง 3 ตรวจพบ IP PBX 8 เครื่อง router WiFi 4 เครื่อง, ห้อง 4 ตรวจพบ IP PBX 6 เครื่อง router WiFi 3 เครื่อง
- จุดที่ 12 บ้านเลขที่2/4 หมู่ 6 ซอยหนองเกตุ 4 หอพักป้าเดือนตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 5 เครื่อง router WiFi 2 เครื่อง
- จุดที่ 13 บ้านเลขที่ 9/5 หมู่ 5 ห้อง 3 ตำบลหนองปลาไหล บางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 5 เครื่อง router WiFi 2 เครื่อง
- จุดที่ 14 หอพักไผ่ศรีสุขห้อง 2 บ้านเลขที่ 215 หมู่ 9 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตรวจพบ IP PBX 5 เครื่อง router WiFi 2 เครื่อง
ทั้งนี้ การปฏิบัติการของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ยังคงมุ่งมั่น ร่วมมือทำงานร่วมกัน ดำเนินการเชิงรุก บังคับใช้กฎหมาย ปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ทำให้เห็นผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรมซึ่งเกิดจากความตั้งใจของทุกภาคส่วนที่เกี้ยวข้องโดยมีเป้าหมายในการช่วยเหลือ ปกป้องลูกค้าและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้ได้รับความเป็นธรรมจากการถูกละเมิด ฉ้อโกง จากขบวนการมิจฉาชีพ
บริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center คือบริการสายด่วน รับเรื่องร้องเรียนจากลูกค้าเอไอเอสในกรณีถูกมิจฉาชีพโทรเข้ามารบกวน หรือได้รับ SMS Spam ให้สามารถโทรเข้ามาแจ้งได้ฟรี ผ่าน IVR Self Service และ AI Chatbot เพื่อให้ข้อมูลเบอร์โทรหรือ SMS ที่คาดว่าเป็นกลุ่มมิจฉาชีพ โดยเอไอเอสจะดำเนินการตรวจสอบถึงที่มา รายละเอียดการจดแจ้งลงทะเบียน รูปแบบการโทรของเบอร์ดังกล่าว ซึ่งจะบ่งชี้ได้ว่าเป็นเบอร์หรือ SMS ของกลุ่มมิจฉาชีพหรือไม่ หลังจากนั้นจะดำเนินการบล็อกเบอร์และ SMS นั้นๆ โดยทันที พร้อมแจ้งกลับไปยังลูกค้าภายใน 72 ชั่วโมง