ครั้งแรกของประเทศ 2 กองทุนใหญ่จับมือกันเสริมพลังมุ่งพัฒนากิจการพลังงาน เพื่อเป็นแนวร่วมในการจัดสรรงบประมาณและการบริหารจัดการทุนวิจัยผ่านการทำงานร่วมกันของสำนักงาน กกพ. และ สกสว. พร้อมผลักดันสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้าง หวังเป็นโมเดลต้นแบบรองรับการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ความต้องการด้านการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานของประเทศที่จะเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
วันนี้ (18 กรกฎาคม 2565) ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) หรือ ERC ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน พร้อมทั้งจัดงานเสวนาบทบาทและกลไกสนับสนุนงบประมาณของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าและกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ต่อการพัฒนาและส่งเสริมกิจการพลังงานของประเทศ รวมถึงหารือการกำหนดทิศทางการจัดสรรงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติและความต้องการของประเทศ
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. กล่าวว่า สำนักงาน กกพ. จะสนับสนุนเงินงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97(4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ประกอบด้วย งบสำหรับการวิจัยและพัฒนาที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติด้านพลังงาน แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และกรอบการวิจัยที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานให้ความเห็นชอบ
ขณะที่ ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ระบุว่า สกสว. จะสนับสนุนในเชิงวิชาการ ร่วมเสนอแนะเป้าหมาย ประเด็นและกรอบการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ข้อมูลความรู้จากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน สนับสนุนระบบบริหารจัดการทุนและจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการโครงการวิจัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า รวมถึงร่วมมือกับสำนักงาน กกพ. สนับสนุนการเชื่อมโยงฐานข้อมูลงานวิจัยด้านพลังงาน การติดตามประเมินผลโครงการวิจัย และการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง “พลังงานเป็นหนี่งในแผนงานสำคัญของกองทุนส่งเสริม ววน. จึงต้องมีการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม และพยายามชักชวนภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่จะทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้น และจะเป็นตัวอย่างสำหรับการทำงานของประเทศในปัจจุบันและอนาคต”
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง 2 กองทุนเพื่อดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติในการกำกับกิจการพลังงานของประเทศว่า เป็นการส่งเสริมภารกิจของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของชาติ เดินหน้าสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพส่งต่อให้ถึงมือผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย สู่การพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านพลังงานของประเทศไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านพลังงานของโลกที่จะเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 ตามที่ได้ให้เจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ผ่านการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวเสริมว่า นอกจากการเน้นย้ำประเด็นสำคัญของความร่วมมือระหว่างสองกองทุนแล้ว ยังรวมถึงบทบาทและกลไกของทั้งสองกองทุนต่อการพัฒนาและส่งเสริมกิจการพลังงานของประเทศ โดยการส่งเสริมการวิจัย พัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้สามารถยกระดับขีดความสามารถ ประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการพลังงาน การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และระดับชุมชน ตลอดจนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการบริหารจัดการ ระบบฐานข้อมูลนักวิจัย ฐานข้อมูลวิจัย การเผยแพร่ผลงานวิจัยและการผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ และตอบสนองต่อความต้องการของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งตอบสนองนโยบายด้านงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติตามแผนด้าน ววน. ให้มีประสิทธิภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย และรองรับการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ความต้องการพลังงานของประเทศ โดยจะมีหน่วยบริหารและจัดการทุนของกองทุนส่งเสริม ววน. (PMU) ร่วมขับเคลื่อน
ทั้งนี้ หน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ววน. ด้านพลังงานของ สกสว. ได้รวบรวมสถานการณ์พลังงานทั้งในและต่างประเทศ จัดทำฐานข้อมูลนักวิจัยด้านพลังงานของประเทศ และข้อเสนอแนะในการพัฒนางานวิจัยทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งชี้ให้เห็นศักยภาพ อนาคต โอกาสและความท้าทาย รวมทั้งแผนด้าน ววน. ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ในด้านพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน วัสดุชีวภาพ และเคมีชีวภาพ ให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ รวมถึงการพัฒนาและเร่งแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการบริโภคอย่างยั่งยืนและเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม
ด้าน รศ. ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน สกสว. เผยว่า นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่สองกองทุนใหญ่ปักหมุดร่วมมือกันเสริมพลังงานวิจัยและนวัตกรรมด้านพลังงานให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากนี้ทั้งสองกองทุนจะร่วมกันหารือกรอบการจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างแนวร่วมที่มีทิศทางชัดเจนในการบริหารจัดการทุน ซึ่งหน่วยบริหารและจัดการทุนภายใต้กองทุนส่งเสริม ววน. จะร่วมกันให้มุมมองเพื่อเพิ่มศักยภาพงานวิจัยและนวัตกรรมด้านพลังงานในมิติต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นไปตามเป้าหมายและพันธกิจของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าและกองทุนส่งเสริม ววน. ลดความซ้ำซ้อนของการบริหารจัดการทุน หากโมเดลนี้สำเร็จจะเป็นต้นแบบกลไกความร่วมมือของการร่วมทุนสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมกับกองทุนหมุนเวียนอื่น ๆ ต่อไป