สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) พัฒนาระบบสอบเทียบเครื่องตรวจจับความเร็ว สนับสนุนการบังคับใช้กฏหมาย เพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ช่วยลดเวลา และลดค่าใช้จ่ายของผู้ใช้งานในการส่งเครื่องมือไปสอบเทียบต่างประเทศ เริ่มให้บริการ ในเดือนมกราคม 2564 นี้
สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างระบบการสอบกลับ (Traceability) ไปยังหน่วย SI ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้พิสูจน์และสร้างมาตรฐานให้แก่เครื่องตรวจจับความเร็วให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ในระดับสากล จึงได้ริเริ่มพัฒนาระบบสอบเทียบเครื่องตรวจจับความเร็ว พร้อมด้วยอาคารห้องปฏิบัติการ รวมถึงระบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับถ่ายทอดค่าความถูกต้องของผลการวัดของเครื่องตรวจจับความเร็วขึ้นในประเทศไทย
ทั้งนี้ การสอบเทียบที่สามารถสอบกลับไปยังมาตรฐานการวัดแห่งชาติ เป็นวิธีการที่สามารถใช้เพื่อการพิสูจน์และสร้างมาตรฐานให้แก่เครื่องตรวจจับความเร็วดังกล่าวให้สามารถใช้งานได้อย่างถูกต้องและนำมาใช้ในการควบคุมวินัยจราจร ความปลอดภัยบนท้องถนน และความเป็นธรรมในการอ้างอิงทางกฎหมาย
ระบบดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน อาทิ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้ : KRISS ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลด้านการออกแบบระบบสอบเทียบเครื่องตรวจจับความเร็วรอบ และการออกแบบเครื่องกำเนิดความเร็วคงที่ ระบบสายพาน และตัวรับสัญญาณเลเซอร์ และยังมีผู้สนับสนุนในส่วนของผู้ใช้งานระบบ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กรมการขนส่งทางบก รวมไปถึงความร่วมมือระหว่างโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และ NECTEC จากสวทช. ซึ่งเป็นผู้วิจัยสร้างเครื่องต้นแบบ
ที่ผ่านมา การขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นสาเหตุหลักอันดับต้น ๆ ของอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย ที่สร้างความเสียหายเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งของผู้ขับขี่และผู้ร่วมทาง การบังคับใช้กฎหมาย “ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด” อย่างจริงจังและต่อเนื่องจะนำไปสู่การแก้ไขและลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างสอดคล้องกับสภาพปัญหาและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจทางหลวง กรมการขนส่งทางบก และ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จึงได้มีการนำเครื่องตรวจจับความเร็ว อาทิ กล้องตรวจจับความเร็วด้วยแสงเลเซอร์ และกล้องตรวจจับความเร็วด้วยคลื่นวิทยุมาใช้ เพื่อประกอบเป็นหลักฐานในการบังคับใช้กฎหมาย และเนื่องจากการนำเครื่องตรวจจับความเร็วของรถประเภทต่าง ๆ มาใช้งานเพื่อประกอบเป็นหลักฐานในการบังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องมีความแม่นยำสูง มาตรฐานของกล้องที่ใช้ควรมีค่าความถูกต้องในการตรวจจับ
สำหรับกล้องตรวจจับความเร็วรถ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. Radar Camera และ 2. Laser Camera ซึ่งกรมตำรวจใช้มากสุดคือ Laser Camera ปัจจุบันห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องตรวจจับความเร็วของ มว. สามารถสอบเทียบเครื่องตรวจจับความเร็วชนิด Lidar ซึ่งเป็นชนิดที่ใช้หลักการสะท้อนกลับของ Laser เท่านั้น โดยสามารถวัดความเร็วสูงสุดได้ที่ 120 กม./ชม. มีความผิดพลาดของระบบเพียง 0.01 กิโลเมตร / ชั่วโมง โดยจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในเดือนมกราคม 2564 นี้