กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ บริษัท พี โซลูชั่น จำกัด เปิดตัวห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัม ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานแห่งแรกในประเทศไทยลดการนำเข้าต้นอินทผลัมจาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต่างประเทศ ช่วยเกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัมลดต้นทุนการผลิต ตั้งเป้าผลิตต้นกล้าอินทผลัมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อประมาณ 5,000 – 10,000 ต้นต่อปี คาดว่าสามารถผลิตและจำหน่ายกล้าอินทผลัมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ภายในเดือน ตุลาคม 2565
ปัจจุบัน ธุรกิจการปลูกอินทผลัมพันธุ์ทานสดในประเทศไทยมีการขยายตัวในวงกว้างมากขึ้นกว่าในอดีต เนื่องจากเป็นไม้ผลที่มีน้ำตาลเชิงเดี่ยวที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและมีมูลค่าสูงในตลาด แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของการคัดเลือกสายพันธุ์อินทผลัมเพื่อผลิตต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพและเหมาะสมต่อการปลูกในประเทศไทย อินทผลัมเป็นพืชที่แยกเป็นต้นตัวเมียและต้นตัวผู้ คุณภาพของผลผลิตส่วนใหญ่จึงมาจากทางต้นแม่มากกว่าต้นพ่อ การพัฒนาต้นแม่พันธุ์ดีด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะการันตีถึงความสม่ำเสมอของคุณภาพและปริมาณของผลิตผลอินทผลัมที่จะออกสู่ตลาด
ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า การปลูกอินทผลัมพันธุ์ทานสดในเชิงพาณิชย์นั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะปลูกด้วยต้นอินทผลัมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยการนำเข้าจากต่างประเทศเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ในราคาที่ห้องปฏิบัติการในต่างประเทศเป็นผู้กำหนดส่งผลให้เกษตรกรไทยบางส่วนยังจับต้องไม่ได้มากนัก จึงเป็นที่มาของการร่วมมือระหว่าง ไบโอเทค สวทช. และ บริษัท พี โซลูชั่น จำกัด ในการวิจัยและพัฒนาโครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมพันธุ์ทานสดในเชิงพาณิชย์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรไทยทุกระดับสามารถใช้ประโยชน์ของนวัตกรรมด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมพันธุ์ทานสดนี้ ในการช่วยลดต้นทุนการซื้อต้นแม่พันธุ์ดีจากต่างประเทศ และช่วยในการผลิตต้นกล้าอินทผลัมพันธุ์ดีจากการเพาะเมล็ดในประเทศ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG economy model)
นอกจากนี้ยังเป็นการการันตีในคุณภาพของต้นแม่ที่มีความสม่ำเสมอทางพันธุกรรม อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ในการถ่ายทอดองค์ความรู้แนวทางการผลิตต้นพันธุ์อินทผลัมในเชิงพาณิชย์ด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขั้นสูงได้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมพันธุ์ทานสดให้แก่ ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของ บริษัท พี โซลูชั่น จำกัน เป็นก้าวแรกในการขยายผลความสำเร็จของโครงการฯ ซึ่งคุณประพัฒน์ วนาพิทักษ์ ประธานบริษัท พี โซลูชั่น จำกัด กล่าวว่า “ความสำเร็จของการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมร่วมกับ ไบโอเทค สวทช. นี้ จะสามารถใช้เป็นฐานการผลิตต้นพันธุ์อินทผลัมพันธุ์ดีในประเทศได้แทนการที่จะสั่งซื้อจากต่างประเทศ อีกทั้ง ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน สวนเอกชน หากมีการพัฒนาต้นพันธุ์เพาะเมล็ดลักษณะดี ก็สามารถมาหารือในการลงทุนขยายต้นพันธุ์ของตนเองได้” ในการนี้เพื่อการส่งเสริมให้มีการปลูกอินทผลัมพันธุ์ทานสดมีการขยายตัวในวงกว้างขึ้นมากกว่าเดิม แม้ว่าทางโครงการจะเริ่มต้นจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมพันธุ์บาฮีซึ่งเป็นพันธุ์การค้ามาตรฐาน ราคาไม่สูงมากนั้น แต่นวัตกรรมนี้ยังสามารถต่อยอดเพื่อการผลิตต้นพันธุ์อินทผลัมพันธุ์ดีอื่นๆ ที่มีมูลค่าทางการตลาด เช่น เบรม โคไนซี่ บาฮีแดง ฯลฯ ได้อีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจการปลูกอินทผลัมเป็นที่นิยมมากขึ้นในประเทศไทยและสามารถส่งออกได้ในอนาคต นอกจากนั้น ความก้าวหน้าการพัฒนานวัตกรรมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมนี้ ยังส่งผลกระทบต่อวงการการพัฒนาอินผลัมพันธุ์ทานสดในประเทศไทยอีกด้วย
ด้าน ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยไบโอเทค หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมพันธุ์ทานสดในเชิงพาณิชย์ กล่าวเกี่ยวกับการพัฒนาพันธุ์อินทผลัมว่า “อินทผลัมเป็นพืชต่างประเทศ การปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพการปลูกและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพในประเทศไทยมีความจำเป็น เนื่องจากอินทผลัมมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงทั้งในด้านระดับความหวาน ความหอม สีผล ความกรอบ อายุการเก็บเกี่ยว และความสดหลังเก็บเกี่ยว ฯลฯ หากมีการพัฒนาสายพันธุ์ที่ดีสำหรับประเทศไทยได้ ก็สามารถนำเอานวัตกรรมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่พัฒนาขึ้นไปใช้ประโยชน์ในการขยายต้นพันธุ์เพื่อปลูกในเชิงพาณิชย์ได้ จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ให้วงการอินทผลัมไทยได้อย่างยั่งยืน”
จากเหตุดังกล่าว ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับ บริษัท พี โซลูชั่น จำกัด จึงจัดการเฟ้นหาอินทผลัมพันธุ์เพาะเมล็ดที่กลายดีในประเทศไทย หรือที่เกิดจากการพัฒนาพันธุ์โดยฝีมือคนไทย ซึ่งลักษณะของอินทผลัมพันธุ์กลายดีนั้น ควรที่จะมีลักษณะที่ให้หน่อได้ คุณภาพของผลผลิตเป็นที่ต้องการและนิยมของตลาด ต้นแม่ให้ผลผลิตที่สม่ำเสมอทั้งคุณภาพและปริมาณ มีความต้านทานต่อโรคและเจริญได้ดีในสภาพอากาศของไทย เพื่อนำเอาอินทผลัมเพาะเมล็ดพันธุ์ดีที่ได้รับเลือกมาขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเป็นการรักษาลักษณะพันธุ์นั้นไว้ เพื่อสร้างผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมไทย นอกจากนี้ ไบโอเทค สวทช. มีแผนที่จะพัฒนาและผลักดันการใช้ระบบไบโอรีแอคเตอร์ในการผลิตต้นอ่อนอินทผลัมพันธุ์ดีในเชิงพานิชย์ เพื่อสำหรับรองรับการขยายตัวของธุรกิจการปลูกอินทผลัมในประเทศไทยอีกด้วย
สำหรับการผลิตกล้าอินทผลัมพันธุ์บาฮีจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของทางห้องปฏิบัติการของบริษัทฯ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 5,000 – 10,000 ต้นต่อปี ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ คุณประพัฒน์ วนาพิทักษ์ บริษัท พี โซลูชั่น จำกัด เบอร์โทรศัพท์ 081-3751969 หรือ 081-8759340