สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนร่วมกับ สวพส. ยกระดับ “ข้าวดอย” สู่ Super Food

ออนไซต์-ในสนาม

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์คุณค่าโภชนาการ “ข้าวดอย” ลงลึกถึงระดับโมเลกุล พบบางสายพันธุ์ให้ธาตุเหล็ก-สังกะสีปริมาณสูง บางสายพันธุ์มี “ฟีนอลิก” และ “ฟลาโวนอยด์” สูง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าสายพันธุ์อื่นกว่า 20 เท่า ปูทางสู่การพัฒนา Super Food ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค และสร้างรายได้แก่กลุ่มชาติพันธุ์บนดอย  

“ข้าวดอย” เป็นข้าวที่ปลูกตามชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ บนพื้นที่สูงของประเทศไทย โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงระบุว่า มีข้าวดอยมากกว่า 300 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ก็มีรูปร่างลักษณะของเมล็ด เนื้อสัมผัส และมีรสชาติที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นกลุ่มชาติพันธุ์ยังเรียก “ข้าว” แตกต่างกัน เช่น ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเรียกข้าวว่า “บือ” ชาติพันธุ์ละว้าข้าวเรียกว่า “เฮงาะ” ชาติพันธุ์ม้งเรียกข้าวว่า “เบล้” ชาติพันธุ์ลีซอเรียกข้าวว่า “จะ” หรือ “จา” และชาติพันธุ์อาข่าเรียกว่า “แชะ” เป็นต้น

คณะนักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน นำโดย ดร.สมชาย ตันชรากรณ์, ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช, ดร.นิชาดา เจียรนัยกูร และ ดร.รัชฎาภรณ์ ทรัพย์เรืองเนตร ร่วมกับ ดร.จันทร์จิรา รุ่งเจริญ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง คัดเลือกข้าวดอย 20 สายพันธุ์ เพื่อศึกษาวิจัยด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนในการจำแนก จัดกลุ่ม และค้นหาสายพันธุ์ที่เป็น SUPERFOOD โดยสามารถจำแนกและจัดกลุ่มข้าวดอยด้วยองค์ประกอบทางชีวเคมี และโครงสร้างโมเลกุลที่เป็นองค์ประกอบของข้าวได้อย่างรวดเร็ว

ดร.สมชาย ตันชรากรณ์ กล่าวว่า “การใช้แสงซินโครตรอนในการวัดตัวอย่างข้าวนั้น สามารถวัดได้โดยตรง ไม่ต้องใช้สารเคมีสกัดสารสำคัญออกจากเมล็ดข้าว จึงเป็นการช่วยลดความผิดพลาดจากการเตรียมตัวอย่าง และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดกลุ่มข้าว ให้มีความถูกต้องชัดเจน และรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเดิมการจัดกลุ่มข้าวอาศัยคุณลักษณะทางกายภาพเป็นหลัก”

จากการวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอนพบว่า ข้าวดอยอุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ต่างๆ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และมีไฟโตนิวเทรียนต์ที่จำเป็นต่อร่างกาย และยังพบว่าข้าวดอยบางสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์เบล้เจ่าของชาติพันธุ์ม้ง จาคูเนเนของชาติพันธุ์ลีซอ และม๊อคก๊อคของชาติพันธุ์ละว้า มีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวปริมาณสูงกว่าสายพันธุ์อื่น ซึ่งมีรายงานว่า กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดต่างๆ สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือดได้ เป็นต้น


ข้าวสายพันธุ์จานูเนเน

ส่วนข้าวสายพันธุ์แชะโกว้ของชาติพันธุ์อาข่า ข้าวสายพันธุ์เบล้เจ่าและข้าวสายพันธุ์บือหมื่อโพของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีปริมาณธาตุเหล็กและสังกะสีในปริมาณสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ทำการศึกษาพร้อมกัน โดยธาตุเหล็กและสังกะสีที่พบอยู่ในรูปองค์ประกอบอินทรีย์ จึงสามารถดูดซึมง่ายและร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้การตรวจพบที่สำคัญพบว่า ข้าวดอยสายพันธุ์จานูเนเน และสายพันธุ์จาคูเนเน และข้าวดอยอีกสายพันธุ์ที่มีเมล็ดข้าวสีแดงแต่ไม่สามารถระบุชื่อพันธุ์ได้นั้น มีปริมาณ “ฟีนอลิก” และ “ฟลาโวนอยด์” สูงที่สุด ซึ่งมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ถึง 5 เท่า และตรวจพบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ กว่า 20 เท่า

“งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเบื้องต้น ยังมีข้าวดอยอีกหลายร้อยสายพันธุ์ที่ยังอยู่ในระหว่างการวิจัย ผลที่ได้จะนำไปสู่ฐานข้อมูลความหลากหลายของพันธุกรรมข้าวดอยที่มีปลูกบนพื้นที่สูงของประเทศไทย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับการส่งเสริมให้แก่ผู้บริโภค เป็นอาหารที่เรียกว่า “SUPERFOOD” ต่อไปในอนาคต และเป็นการขยายโอกาสในเชิงพาณิชย์ให้แก่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์สร้างรายได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม” ดร.จันทร์จิรา รุ่งเจริญ กล่าว