เอไอเอส ร่วมกับกรมสุขภาพจิต และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดฟีเจอร์ใหม่ “รายงานคัดกรองสุขภาพจิต”บนแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ ช่วย อสม. คัดกรองเฝ้าระวังและให้คำแนะนำการปฏิบัติตนสำหรับผู้ที่มีความวิตกกังวล ซึมเศร้าได้ทันที
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า ในฐานะ Digital Life Service Provider เอไอเอสมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ให้แก่คนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล สนับสนุนงานด้านสาธารณสุขเพื่อต่อสู้กับภาวการณ์ระบาด ทั้งการติดตั้งเครือข่าย 5G ใน รพ., การพัฒนาหุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ Robot for Care, การจัดทำประกันชีวิตสำหรับ อสม. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและการเพิ่มฟีเจอร์บนแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ เพื่อให้ อสม. สามารถใช้รับมือกับโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการวางแผนและจัดมาตรการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่
“อย่างไรก็ดีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังขยายวงกว้างกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคมความเป็นอยู่ ก่อให้เกิดสภาวะจิตใจที่ผิดปกติ ทั้งความเครียด ซึมเศร้า ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและครอบครัว หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที เอไอเอส จึงได้ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พัฒนา “ฟีเจอร์คัดกรองสุขภาพจิต” บนแอป อสม.ออนไลน์ เพื่อให้ อสม. ที่ดูแลสุขภาพประชาชนที่ใกล้ชิดที่สุด นำเครื่องมือดังกล่าว ไปทำการคัดกรองประชาชนที่ตนเองดูแล ทำให้ อสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สามารถทราบสถานะสุขภาพจิตของประชาชนในพื้นที่ได้แบบทันที ในขณะเดียวกันหน่วยบริการสาธารณสุขระดับตำบล สาธารณสุขอำเภอ และสาธารณสุขจังหวัดก็สามารถเข้าถึงข้อมูลการคัดกรองได้แบบเรียลไทม์ ทำให้การดูแลและเฝ้าระวังเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติในปีนี้นั้น กรมสุขภาพจิตได้ใช้ธีม ที่มีชื่อว่า Working Together สุขภาพจิตไทย ก้าวไปพร้อมกัน ซึ่งคือการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือด้านสุขภาพจิตกับทุกภาคส่วนในสังคมและหนึ่งในความร่วมมือที่สำคัญ ก็คือ ความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และเอไอเอส ในการกระจายองค์ความรู้ ข้อมูล และข่าวสารด้านสุขภาพจิตต่างๆ ลงไปถึงประชาชนในพื้นที่ ผ่านกลไกการทำงานของพี่น้อง อสม. และ อสส. ทั่วประเทศ เมื่อมองถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ ถือว่ามีการควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งการทำงานได้เช่นนี้เกิดจากความร่วมมือของพี่น้องประชาชนและบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน ได้แก่ พี่น้อง อสม. และ อสส. ทั่วประเทศ แต่การดูแลเพียงสุขภาพกายอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้น ส่งผลกระทบต่อสังคมในรอบด้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อมายังสุขภาพจิตของคนไทยโดยรวม เพราะฉะนั้นการเฝ้าระวังและการรับมือในระดับพื้นที่จึงเป็นช่องทางที่สำคัญที่จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงและการสูญเสียจากปัญหาด้านสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นได้
ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันบทบาทของ อสม.และอสส.เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agents) พฤติกรรมด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในชุมชน จะต้องได้รับการเสริมสร้างอาวุธทางปัญญา เพื่อสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ครอบครัว บุคคลใกล้ชิด และชุมชน เป็นเกราะป้องกันตนเอง และมีส่วนช่วยลดการระบาดของโรคในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาความรู้สาธารณสุขในมิติสุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สามารถช่วยการดำเนินงานให้กับพี่น้อง อสม. และ อสส. ในการฟื้นฟูจิตใจของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ของประเทศในขณะนี้
ด้านนายณรณ พศินมณี ผู้ชำนาญการชุมชนสัมพันธ์ เอไอเอส เปิดเผยว่า แอปอสม.ออนไลน์พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีฟีเจอร์หลัก ๆ ประกอบด้วย 4 ส่วนคือ 1.ข่าว 2.นัดประชุม 3. แชท และ4.ระบบรายงาน ซึ่งในส่วนของฟีเจอร์รายงานนั้น ปัจจุบันจะมีรายงานการทำงานต่าง ๆ เช่น รายงานประจำเดือน ที่ยกการทำงานที่อสม.ทำอยู่แล้วจากการเยี่ยมบ้านจากการบันทึกบนกระดาษมาอยู่บนระบบออนไลน์ สามารถส่งรูป ส่งพิกัดแผนที่ได้ รายงานโควิด การคัดกรองความเสี่ยงของโควิด-19 ซึ่งสามารถใช้ติดตามกลุ่มเสี่ยงได้ รายงานลูกน้ำยุงลาย ซึ่งมีแผนในอนาคตว่าจะร่วมมือกับเนคเทคในการเชื่อมต่อข้อมูลกับโปรแกรมทันระบาด เพื่อสร้างโมเดลช่วยประเทศไทยในการพยากรณ์และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็ว
และล่าสุดฟีเจอร์ที่เพิ่งเปิดตัวคือ“รายงานคัดกรองสุขภาพจิต” ซึ่งเป็นการคัดกรองแบบรายบุคคล โดยอสม.จะมีบ้านที่ตนเองรับผิดชอบอยู่แล้ว เมื่อเข้าไปเยี่ยมบ้านสามารถกดเพิ่มจำนวนสมาชิกที่คัดกรองในฟีเจอร์นี้ โดยจะมีคำถามสำหรับใช้คัดกรอง ซึ่งกรมสุขภาพจิตออกแบบมาให้ สามารถประเมินผลและระบุบ่งบอกสภาวะสุขภาพจิตที่มีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตในแต่ละระดับได้ทันที โดยมีตั้งแต่การประเมินความเครียด การเกิดภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงในการเกิดปัญหาฆ่าตัวตาย พร้อมมีคำแนะนำให้ อสม.สามารถรับมือ ให้คำแนะนำและป้องกันการเกิดปัญหาด้านสุขภาพได้แบบทันท่วงที
ฟีเจอร์ “รายงานคัดกรองสุขภาพจิต” สามารถใช้งานได้แล้ว เพียงทำการอัปเดต แอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด โดย อสม. ทุกเครือข่ายสามารถใช้งานแอปฯ ดังกล่าวได้ฟรี สำหรับ อสม. ที่ใช้งานเครือข่ายเอไอเอสสามารถใช้ได้โดยฟรีค่าอินเทอร์เน็ต ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.ais.co.th/aorsormor/
ปัจจุบันแอปพลิเคชั่น อสม. ออนไลน์ มี อสม.ที่นำแอปพลิเคชั่นไปใช้งานแล้ว ประมาณ 510,000 ราย จากจำนวน อสม.ทั้งหมดประมาณ 1,050,000 คน