การกลับมาพบกันอีกครั้งของ 4 เยาวชนผู้ชนะการประกวด Chevron Enjoy Science: Young Makers Contest ปีที่ 4 ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา แม้จะห่างหายกันไปกว่า 2 ปีจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 จนเมื่อเยอรมันเริ่มเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกได้เดินทางเข้าประเทศได้
จึงเป็นโอกาสดีที่น้องๆ จะออกเดินทางไปเปิดประสบการณ์ในต่างแดนด้วยการศึกษาดูงาน Maker Faire Sachsen และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยี ณ ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 7-14 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
หากย้อนกลับไปบนเวทีการประกวดไอเดียความคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ในโครงการ Chevron Enjoy Science: Young Makers Contest ปีที่ 4 ภายใต้การสนับสนุนโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่จะเปิดเวทีให้เหล่าน้องๆ นักประดิษฐ์จากทั่วประเทศได้ส่งไอเดียผ่านความคิดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมและชุมชนให้ดีขึ้น โดยผลการพิจารณารางวัลชนะเลิศสายอาชีพ ได้แก่ โครงการชุดเลี้ยงกบในขวดพลาสติกระบบรีไซเคิลน้ำ โดยนายอนุชิต สุวรรณ์ และนางสาวศศิญาดา สุริโย จากวิทยาลัยการอาชีพไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และรางวัลชนะเลิศสายสามัญ ได้แก่ โครงการอุปกรณ์เลี้ยงปลาวาไรตี้ โดยนายกะวีวัตน์ แก่นยางหวาย และนายธีรภพ ปุรณกรณ์ จากโรงเรียนปลาปากวิทยา จ.นครพนม โดยได้รับทุนการศึกษาพร้อมสิทธิ์ในการเข้าร่วมงาน Maker Faire ระดับโลก
เมื่อโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทุกอย่างต้องหยุดชะงักลงทันทีไม่เว้นแม้แต่การจัดงาน Maker Faire ในต่างประเทศก็เช่นกัน แต่ถึงกระนั้นโควิด-19 ก็ไม่อาจจะปิดกั้นโอกาสของน้อง ๆ ได้ เพราะเมื่อสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น ถึงเวลาที่เหมาะสมและทุกอย่างลงตัว ประกอบกับงาน Maker Faire Sachsen ได้กลับมาจัดขึ้นเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 9-10 กรกฎาคม 2565 การเดินทางของ 4 เยาวชนจึงเริ่มต้นขึ้น
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรวิจัยของประเทศ รวมถึงส่งเสริมและการพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ความเข้าใจในทักษะด้านสะเต็ม พร้อม สร้างเสริมประสบการณ์ ทักษะชีวิต เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นทักษะสำคัญนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงเมกเกอร์ อันจะทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความสามารถร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมต่อไป
การที่ได้พาน้องๆ ทีมชนะเลิศทั้ง 4 คนมาร่วมงาน Maker Faire Sachsen ในครั้งนี้ เราจะเห็นว่าสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่นำมาจัดแสดงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ถึงแม้เราจะต่างภาษาต่างวัฒนธรรมกัน แต่ความคิดสร้างสรรค์ก็ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ การจัดงาน Maker Faire ของทุกประเทศต่างมีเป้าหมายที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นแหล่งพบปะของเหล่านักประดิษฐ์ที่มีในทุกเพศและทุกวัยได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนหลักการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดกิจกรรมที่ทุกคนสามารถร่วมสนุกได้ ทำให้เด็กๆ ที่มาร่วมในงานต่างก็สนุกสนานเพลิดเพลินไปกับกิจกรรม ซึ่งก็จะได้ซึมซับกระบวนการคิดและเรียนรู้ไปในเวลาเดียวกัน
“ในวันนี้แม้น้องๆ ทั้ง 4 คนต่างแยกย้ายเส้นทางชีวิตไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา แต่ก็เชื่อมั่นว่าน้องๆ จะได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ที่ดีตั้งแต่การเข้าร่วมประกวดโครงการ จนถึงการเดินทางมาร่วมงาน Maker Faire ในต่างแดนครั้งนี้ไปต่อยอด นำไปปรับใช้กับการเรียนและเป็นกำลังสำคัญที่จะทำประโยชน์ให้กับชุมชนและประเทศต่อไป” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงความมุ่งมั่นของเชฟรอนเพื่อผลักดันการศึกษาในสาขาสะเต็ม (STEM) มาโดยตลอดว่า “ตลอดระยะที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเรามุ่งให้ความสำคัญกับการปลูกฝังการเรียนรู้ด้านสะเต็มอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เพราะเราเชื่อว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมคือรากฐานที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนได้ ดังนั้นการตีตั๋วพาเหล่าเยาวชนเมกเกอร์ไปเยือนต่างแดนในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการ ‘ตีตั๋ว’ แห่งโอกาสให้ประเทศไทย ในการจุดประกายและแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้พัฒนาองค์ความรู้จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเมกเกอร์ชาติอื่นๆ นำกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมในอนาคต ทั้งยังส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ขับเคลื่อนสู่การสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในระดับนานาชาติอีกด้วย ดังนั้น จึงถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของเชฟรอนในการยกระดับขีดความสามารถของเยาวชนไทยให้พัฒนาเป็น Smart Citizen พร้อมรับมือกับโลกในศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อขับเคลื่อนประเทศในอนาคตอย่างยั่งยืน”
นายกะวีวัตน์ แก่นยางหวาย หรือน้องแฟ้ม โรงเรียนปลาปากวิทยา จ.นครพนม ทีมชนะเลิศด้านสายสามัญ เล่าว่าการเดินทางครั้งนี้ได้ทั้งความรู้และได้ประสบการณ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะการเข้าชมพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีที่ได้เห็นวิวัฒนาการของยานพาหนะในสมัยต่างๆ ของเยอรมัน ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์กลไกของเรือ รถ และเครื่องบินที่นำชิ้นส่วนและอุปกรณ์จริงมาจัดแสดงได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ แถมในระหว่างทริปยังได้เกร็ดความรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์และสงครามที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมันด้วย และน้องภพ หรือนายธีรภพ ปุรณกรณ์ เล่าต่ออีกว่าสำหรับตนเองถือเป็นการเดินทางไกลครั้งแรกที่ทำให้ได้พบกับผู้คนต่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม และได้พบเห็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนและยังได้รับความรู้อีก ก่อนเดินทางรู้สึกตื่นเต้นมากจนนอนไม่หลับไปหลายวัน “สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดในการไปดูงานคือ ได้เห็นรถยนต์รุ่นต่างๆ ที่ผมฝันถึงหลายคัน บางรุ่นเคยเห็นแต่ภาพในอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ไม่คิดฝันว่าจะได้มาเห็นของจริงในวันนี้ ความรู้และประสบการณ์ที่ผมได้รับโอกาสดีๆจากผู้ใหญ่ในครั้งนี้ ผมสัญญาว่าจะช่วยเหลือและทำประโยชน์ให้กับสังคมและช่วยคนที่เดือดร้อนให้ได้มากที่สุดต่อไปครับ”
ส่วนด้านสายอาชีพ นายอนุชิต สุวรรณ์ หรือน้องนก วิทยาลัยการอาชีพไชยา จ.สุราษฎร์ธานี บอกเล่าว่า ผมรู้สึกประทับใจในการดูงานเมกเกอร์ครั้งนี้มาก ได้รับความรู้หลายๆ อย่าง ทั้งด้านเครื่องจักรต่างๆ เเละที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของประเทศเยอรมัน และการเดินทางครั้งนี้ยังทำให้ผมรู้สึกว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญกับเรามากๆ เมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่ชอบเรียนภาษาอังกฤษเลย เพราะคิดว่าไม่รู้จะเรียนไปทำไม เรียนไปก็ไม่รู้จะเอาไปพูดกับใคร จนมาถึงวันนี้ที่ผมได้เดินทางมาต่างประเทศทำให้ผมนึกขึ้นได้ภาษาอังกฤษสำคัญ ทำให้อยากจะไปเรียนภาษาเพิ่ม เพื่อที่จะได้สื่อสารและสนทนากับชาวต่างชาติได้ และน้องมิ้น หรือ นางสาวศศิญาดา สุริโย เล่าให้ฟังว่าสำหรับการดูงานเมกเกอร์ที่ประเทศเยอรมันในครั้งนี้ มีความประทับใจอย่างมาก ที่ได้เห็นผลงานสิ่งประดิษฐ์หลากหลายความคิดและเทคโนโลยี ซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่าสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ นั้นเกิดจากองค์ความรู้ในหลายๆด้านมาประกอบรวมกัน และในงานนี้ตนชื่นชอบผลงานเขียนแบบ 3D มากที่สุด มันสามารถเขียนได้ทุกแบบทุกมิติปริ้นออกมาเป็นชิ้นงานซึ่งโดดเด่นมาก เช่นการทำเป็นตัวเลโก้ในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างสวยงาม ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและอยากทดลองทำสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ก่อนหน้านี้ทีมตนที่ได้รางวัลชนะเลิศก็มีความคิดริเริ่มในสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดประโยชน์และนำมาใช้ได้จริง ๆ และถ้ามีโอกาสก็จะพัฒนาผลงานตัวเองต่อไป