กรมวิทยาศาสตร์บริการปลื้ม อว.มอบหมายร่วมจัดนิทรรศการ “พัฒนาคน พัฒนาชาติ สร้างโอกาส ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เผยแพร่พระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณต่อการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 1-5 สิงหาคมนี้ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ รู้สึกปลาบปลื้มที่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบหมายให้เป็นตัวแทนกระทรวง อว.ในการนำเสนอนิทรรศการ “พัฒนาคน พัฒนาชาติ สร้างโอกาส ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 67 พรรษา 2 เมษายน 2565 และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ต่อการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อย่างอเนกอนันต์ โอกาสนี้ อว. ได้คัดเลือก 10 พระมหากรุณาธิคุณที่เป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อันทันสมัย เป็นการพัฒนาคน พัฒนาชาติ สร้างโอกาส ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยด้านการศึกษา ได้นำเสนอในรูปแบบ Interactive Timeline บอกเรื่องราวการดำเนินงานด้านการศึกษาที่ผ่านมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งในและต่างประเทศ ด้านดนตรี นำเสนอในรูปแบบ Sound Dome เพลงเรื่องนกขมิ้น โครงการเพลงเรื่องในพระราชดำริ จากหอสมุดดนตรีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข นำตัวอย่างชิ้นงานมาจัดแสดง เช่น อุปกรณ์จ่ายอากาศแบบต่อเนื่อง PAPR สำหรับใช้กับหน้ากากชนิดเต็มใบหน้า จากมหาวิทยาลัยรังสิต สายรัดห้ามเลือดชนิดกึ่งอัตโนมัติ จากมหาวิทยาลัยสยาม และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า NANO Covid-19 Antigen Rapid Test และ nSPHERE Pressurized Helmet หมวกควบคุมแรงดันจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
สำหรับด้านดาราศาสตร์ ได้มีการนำกล้องดูดาวของจริงมาจัดแสดงในบูธนิทรรศการ เพื่อให้ผู้สนใจได้ส่องดูดาว และด้านวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ จัดแสดงชิ้นงาน เช่น ระบบการให้น้ำตามความต้องการของพืช IRRIGATION 4.0 สำหรับใช้งานในพื้นที่ที่มีทรัพยากรน้ำจำกัด จากโครงการความร่วมมือกับจูลิช (Jülich) ตามพระราชดำริฯ โมเดลเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบเคลื่อนย้ายได้ หรือ MobiiScan จากมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ โมเดลแบบจำลองเครื่องตรวจวัดนิวตริโน ณ ขั้วโลกใต้ และ VR IceCube เข้าสู่โลกเสมือนจริงเพื่อชมห้องปฏิบัติการไอซ์คิวบ์ที่ขั้วโลกใต้ จากโครงการความร่วมมือไอซ์คิวบ์ตามพระราชดำริฯ
ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช นำเสนอในรูปแบบ บอร์ดข้อมูลเนื้อหาของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและ Hologram ดอกชมพูภูคา ที่พระราชทานเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ใน อพ.สธ.
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเนื้อหาของประชุมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีระดับสากล ให้รับชม ในรูปแบบวีดิทัศน์ และนำเสนอเรื่องราวที่มาและประโยชน์ของเทคโนโลยีฟิวชั่นในรูปแบบ Virtual Reality (VR) ขณะที่ความร่วมมือไทย-เซิร์น นำเสนอในรูปแบบบอร์ดนิทรรศการความร่วมมือกับเซิร์นซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับประเทศไทย และนำเสนอเรื่องนาฬิกาอะตอมเชิงแสงแห่งประเทศไทย ในรูปแบบบอร์ดนิทรรศการและโมเดลจำลอง
อย่างไรก็ดี ภายในนิทรรศการมีจุดเทิดพระเกียรติ (Royal Pavilion) ซึ่งมีจอ LED นำเสนอ “บทอาศิรวาท” ซึ่งประพันธ์โดย รศ.ดร. ปรมินท์ จารุวร อาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีการนำเสนอผลงานนิทรรศการ เป็น Virtual Media ผ่านทางจอ LED อีกด้วย
สำหรับในบูธของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ที่ร่วมจัดในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปีนี้ ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจจากกองสอบเทียบเครื่องมือวัด คือ “ เทคนิคการประเมินความไม่แน่นอนในการวัดสำหรับการสอบเทียบเครื่องวัดระยะด้วยเลเซอร์ขั้นสูง” ที่เน้นนำเสนอวิธีการลดค่าความไม่แน่นอนในการวัดโดยใช้กระบวนการทำงานของ Smart Measuring Probe ที่จะช่วยให้เครื่องวัดระยะด้วยเลเซอร์ (Laser distance meter) ที่ใช้ในงานโยธา มีผลการวัดที่มีความน่าเชื่อถือและมีความถูกต้องแม่นยำ