สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมจัดแสดงนิทรรศการภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ระดม 5 นวัตกรรมทางการแพทย์สู้โควิด-19 โชว์ศักยภาพนักวิจัยไทย อาทิ ห้องแยกโรคความดันลบ ผลิตและส่งมอบไปทั่วประเทศกว่า 80 ห้อง พร้อมความร่วมมือและต่อยอดกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เครื่องผลิตออกซิเจนความบริสุทธิ์สูง สามารถใช้งานได้จริง ตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตให้ได้ชั่วโมงละ 100 ลิตร และเครื่องทดสอบประสิทธิภาพการกรองฝุ่นสำหรับหน้ากากทางการแพทย์
ดร.ศรายุทธ ตั้นมี รักษาการหัวหน้าส่วนบริการผู้ใช้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “สถาบันฯ ได้นำผลงานนวัตกรรมทางการแพทย์มาร่วมจัดแสดงภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยจัดแสดงในโซนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
“5 นวัตกรรมทางการแพทย์ที่เรานำมาจัดแสดง ได้แก่ ห้องแยกโรคความดันลบ เครื่องผลิตออกซิเจนความบริสุทธิ์สูง หมวกช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยทางเดินหายใจ เครื่องทดสอบประสิทธิภาพการกรองฝุ่นสำหรับหน้ากากทางการแพทย์ และหน้ากากผ้าไหมเพื่อทดแทนหน้ากากทางการแพทย์” ดร.ศรายุทธกล่าว พร้อมกันนี้ยังได้นำคณะนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ ร่วมขึ้นเสวนาบนเวทีมินิสเตจ (Mini Stage) ภายในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ เพื่อแนะนำผลงานนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงด้วย”
นายเกริกฤทธิ์ สิทธิศาสตร์ หัวหน้าส่วนระบบเชิงกล และหัวหน้าทีมพัฒนาห้องแยกโรคความดันลบ กล่าวว่า “จากความต้องการห้องความดันลบเพื่อป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ระหว่างการรักษาโรคโควิด-19 ทีมวิศวกรและช่างของสถาบันฯ จึงได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านระบบสุญญากาศ ระบบควบคุมและวิศวกรรมขั้นสูง มาผลิตห้องแยกโรคความดันลบ โดยผลิตและบริจาคแก่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยังได้รับแบบไปพัฒนาและต่อยอดเพื่อบริจาคแก่โรคพยาบาลต่างๆ รวมกว่า 80 ห้อง
“ข้อดีของห้องแยกโรคความดันลบที่สถาบันฯ พัฒนาขึ้น คือสามารถออกแบบห้องให้เหมาะสมต่อพื้นที่ใช้งาน ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลมีข้อจำกัดของพื้นที่แตกต่างกัน มีราคาประหยัด ถอดประกอบและเคลื่อนย้ายได้ง่าย และใช้เวลาติดตั้งเร็ว สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ช่างท้องถิ่นเพื่อผลิตและประกอบได้ ซึ่งจะช่วยให้โรงพยาบาลต่างๆ เข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ต่างๆ เหล่านี้ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้เรายังหลักการสร้างห้องความดันลบนี้ไปพัฒนาตู้ตรวจโรความดันบวก-ความดันลบ และดัดแปลงรถตู้-รถกระบะติดหลังคา เพื่อสร้างห้องโดยสารความดันลบสำหรับขนย้ายผู้ป่วยด้วย” นายเกริกฤทธิ์กล่าว
ส่วน ดร.พัฒนพงษ์ จันทร์พวง ผู้จัดการระบบลำเลียงแสงที่ 6 และนักวิจัยผู้พัฒนาเครื่องผลิตออกซิเจน หมวกช่วยหายใจและเครื่องทดสอบประสิทธิภาพการกรองฝุ่นสำหรับหน้ากากกล่าวว่า “เครื่องผลิตออกซิเจนที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถใช้งานได้จริงโดยผลิตออกซิเจนที่มีความบริสุทธิ์สูงได้ชั่วโมงละ 5 ลิตร และได้สาธิตการใช้ร่วมกับหมวกช่วยหายใจ โดยต่อท่อนำออกซิเจนใส่หมวกช่วยใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยที่หายใจลำบากสามารถรับออกซิเจนได้มากขึ้น อนาคตตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตออกซิเจนให้ได้ชั่วโมงละ 100 ลิตร
“หลักการของเครื่องที่สามารถผลิตออกซิเจนนี้คือ ระบบกรองอากาศด้วยกระบอกเม็ดซีโอไลต์ (Zeolite) ที่มีรูพรุนขนาดพอดีต่อการกักเก็บไนโตรเจน ซึ่งเป็นก๊าซที่มีปริมาณมากในอากาศทั่วไป และปล่อยให้ออกซิเจนไหลผ่านได้จนมีสัดส่วนถึง 92% ของอากาศทั้งหมด และเราได้ใช้แสงซิโครตรอนวิเคราะห์โครงสร้างสามมิติของเม็ดซีโอไลต์เพื่อคัดกรองซีโอไลต์ที่เหมาะสมสำหรับนำมากรองอากาศ และอนาคตเรายังตั้งเป้าผลิตเม็ดซีโอไลต์สำหรับใช้ผลิตออกซิเจนเองอีกด้วย” ดร.พัฒนพงษ์กล่าว