ETDA เร่งยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเข้มหลังพบสถิติปี 63 ปัญหาออนไลน์พุ่งสูงเฉลี่ย 3,742 ครั้งต่อเดือน มากสุดคือ ปัญหาซื้อขายออนไลน์-เว็บไซต์ผิดกฎหมาย
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากการเปิดให้บริการรับเรื่องร้องเรียนของ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ 1212 OCC ในช่วงปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 62-กันยายน 63) ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งสายด่วน 1212, อีเมล 1212@mdes.go.th, เว็บไซต์ www.1212occ.com และแช็ตบอต m.me/1212occ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 13 % จำนวนรวมกว่า 44,907 ครั้ง เฉลี่ย 3,742 ครั้งต่อเดือน โดยปัญหาออนไลน์ที่พบมากที่สุดคือ ปัญหาการซื้อขายทางออนไลน์ จำนวน 20,300 ครั้ง รองลงมาคือ ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย 24,209 ครั้ง ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ 90 ครั้ง ข้อสงสัยด้านกฎหมาย ICT 57 ครั้ง และปัญหาอื่นๆ เช่น สอบถามข้อสงสัย 251 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาประเด็นที่ร้องเรียนในปัญหาในแต่ละประเภท พบว่า ปัญหาการซื้อขายทางออนไลน์ เรื่องที่แจ้งหรือสอบถามเข้ามามากที่สุดคือ การสอบถามเกี่ยวกับขั้นตอนและหลักฐานการแจ้งเรื่องร้องเรียน รองลงมาคือ ปรึกษาความน่าเชื่อถือของผู้ขาย, ไม่ได้รับสินค้า ถูกหลอกลวง ขณะที่ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ เนื้อหาหมิ่นเบื้องสูง, ขอคำปรึกษาขั้นตอนการแจ้งเบาะแสเรื่องร้องเรียน, เนื้อหาลามกอนาจาร ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโปรแกรมไม่พึงประสงค์, ความพยายามบุกรุกเจาะระบบ, ความพยายามรวบรวมข้อมูลของระบบ ข้อสงสัยด้านกฎหมาย ICT ส่วนใหญ่เป็นเรื่องกฎหมายต่างๆ, พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบทำให้ห้างร้าน ศูนย์การค้าถูกปิดกิจการชั่วคราว ทำให้พ่อค้าแม่ค้านำสินค้ามาขายบนโลกออนไลน์แทนรวมถึงสินค้าชุมชน การเกษตร จึงก่อให้เกิดปัญหาการซื้อขายทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งจากความตั้งใจของผู้ขาย ที่มาจากพิษเศรษฐกิจ ที่ต้องหวังผลกำไรเป็นที่ตั้ง และความไม่ตั้งใจจากความไม่ถนัด ขาดทักษะในการขายของออนไลน์ของผู้ขาย
ทั้งนี้ จากปัจจัยข้างต้นนับเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ ETDA โดยศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ 1212 OCC ยกระดับการรับเรื่องร้องเรียนให้มากขึ้น โดยการพัฒนากรอบการทำงานเชิงรุก ให้เกิดเชื่อมโยงข้อมูลแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การคุ้มครองเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็ว พร้อมนำเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูล (Social Listening) มาใช้เป็นเครื่องมือในการฟังเสียงสะท้อน ความเคลื่อนไหว ข้อร้องเรียน หรือปัญหาต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์จากผู้ใช้บริการและผู้บริโภคออนไลน์ เพื่อให้การเฝ้าระวังภัยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังเน้นสื่อสารข้อมูลแนวทางการรับมือเมื่อตกเป็นเหยื่อ ผ่านเพจ “ข้อมูลข่าวสาร 1212” และหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตร เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วย เพื่อให้คนไทย Go Digital with ETDA ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ