กระแส Soft Power ที่มาแบบเดี๋ยวแรงเดี๋ยวแผ่ว ตามกระแสคนดัง ไม่ว่าจะเป็นน้องมิลลิกับข้าวเหนียวมะม่วงหรือล่าสุดน้องลิซ่ากับโรตีสายไหม วช.จัดให้ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ด้วยการเชิญ คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และวุฒิสมาชิก ขึ้นเวทีโชว์เคสเดี่ยวไมโครโฟน ในหัวข้อ Soft Power ไทยอย่างไรถึงจะปัง
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หลายประเทศมีการใช้ Soft Power เพื่อหลอมรวมใจคนในชาติและสร้างความเป็นชาตินิยม ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และสิ่งที่คนนึกไม่ถึงก็คือ เป็น Soft Power ที่ผ่านทางภาพยนตร์ เพราะจากการศึกษา ถ้านำคนไปนั่งชมภาพยนตร์ พวกเขาจะถูกตรึงอยู่กับที่ลุกไปไหนไม่ได้ นักแสดงจะยิ่งใหญ่และทำให้คนดูตัวเล็ก เป็นการกดข่มคนดูอย่างคาดไม่ถึง ภาพยนตร์จะสามารถสอดแทรกวิธีการล้างสมองในบรรยากาศเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี
สหรัฐอเมริกาใช้วิธีนี้ทำให้คนอยากไปดิสนีย์แลนด์ อยากแต่งตัวเป็นคาวบอย มีการค้นพบว่า ช่วง 40-50 ปีมีหนังคาวบอย กว่า 5,000 เรื่อง เพื่อที่จะปลูกฝังชีวิตแบบอเมริกันชนที่อิสระ กล้าหาญ อดทน ยอมรับการต่อสู้ เจมส์ดีน คือ Soft Power ในยุคนั้น ทำให้แว่นตาเรย์แบนด์ และ ปืนขายดี
K-pop ของเกาหลีใต้เกิดขึ้นบนรากฐานของความพยายามในการรักษาวัฒนธรรมในอดีตและการหลอมรวมคนเกาหลีสองชาติเข้าด้วยกัน รัฐบาลเกาหลีถึงกับออกนโยบายถ้าภาพยนตร์เรื่องใดสามารถทำเงินรายได้สูงจะได้รับเงินรางวัล ยิ่งถ้าภาพยนตร์เรื่องใดไปฉายต่างประเทศจะได้รับเงินรางวัลจำนวนมาก ด้วยวิธีนี้จากภาพยนตร์ที่มีความยาวเพียง 2 ชั่วโมงก็เป็นภาพยนตร์ชุดมี 20-30 ตอน ทำให้คนไทยพากันไปรับประทานอาหารเกาหลีเพิ่มขึ้น
“ถ้าเราตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไร Soft Power ไทยถึงจะปัง ถ้าปังเพราะเงิน จะไม่ได้ความยั่งยืนเลย มันมีหลายมิติที่จะต้องทำ สิ่งสำคัญคือ ผู้นำต้องสนใจทำอย่างจริงจัง รัฐบาลเกาหลีใต้ให้ทุนสนับสนุนในเรื่องนี้มาก และเป็นประเทศเดียวที่ใช้เวลาสั้นมากในการกระจายอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้ติดตลาดโลกแม้แต่ญี่ปุ่นยังทำไม่ได้”
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ประเทศไทยมีต้นทุนเยอะมาก แม้แต่ถั่วแปบก็เป็น Soft Power ได้ แต่เราไม่มีเครือข่ายในการจำหน่าย และเรายังไม่ทุ่มเทพอ เมื่อปี 2547 ตอนนั้นตนเป็นรัฐมนตรีช่วยอยู่ จำได้ว่าภาพยนตร์โหมโรงดีมาก แต่ไม่ทำเงิน ตนใช้วิธีเชิญท่านทูต ไปดู ทุกคนชมสิ่งที่หนังสะท้อนออกมาในที่สุดหนังเรื่องนี้ทำรายได้ 100 ล้าน เพราะหนังเรื่องนี้มี Soft Power ที่เข้าไปแตะหัวใจในส่วนลึกมาก ๆ แต่เราต้องมีศิลปะในการนำเสนอออกมา
“ปัง แปลว่าอะไร ปังด้วยเงินอย่างเดียวคงได้แต่ไปได้ไม่ไกล บอกได้เลยว่าคนไทยมีความสามารถในการเล่าเรื่องไม่แพ้ใคร โฆษณาประกันชีวิตทำให้คนดูร้องไห้ หนังผีของเราสามารถทำให้คนตกใจ เราอาจไม่รู้ว่าหนังผีของไทยขายดีมากในประเทศหมู่เกาะ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศแถบทะเลแปซิฟิกก็ชอบ นางนาก พี่มากพระโขนง ปังมากที่อินโดนีเซีย และเมียนมา ดังนั้นอยากให้ทบทวนว่า ปังแปลว่าอะไร ถ้าเราทำให้มันไปถึงหัวใจคนได้ทำให้คนเห็นพ้องต้องได้ จะทำให้ Soft Power มีพลังและมีค่ามากกว่าตัวเงิน”
สุดท้ายคือเรื่องการท่องเที่ยวซึ่งเป็น Soft Power ได้ แต่เราเริ่มจะทำร้ายตัวเอง เพราะเมืองไทยใคร ๆ ก็ชอบมาเพราะคนไทยยิ้มแย้มและยืดหยุ่น ถ้าเราไปร้านอาหารญี่ปุ่น อยากจะสั่งราเมงแห้งขอแยกน้ำซุป เขาจะแค่ยืนโค้งยิ้มแย้มแต่ไม่ทำให้ยืดหยุ่น บางประเทศยืดหยุ่นแต่ไม่ยิ้มแย้ม เช่น เยอรมัน อยากจะกินอาหารที่ต้องการตามสั่ง แต่ถ้าไม่มีในเมนู เขาทำให้แต่ไม่ยิ้มแย้ม เหมือนจะเป็นนัยประหลาดที่สั่งแบบนั้น ซึ่งไม่เหมือนคนไทยอยากกินอะไรตามสั่งทำให้และยิ้มแย้ม แต่สิ่งที่คนไทยมีปัญหาคือหย่อนยาน ดังนั้นถ้าเราทำการเดินทางให้มันเป็น Soft Power ได้เราต้องไม่ทำให้มันหย่อนยาน
ก่อนจะลงจากเวที คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ผู้มีส่วนในปฏิบัติการหมูป่าอคาเดมี่ได้สะท้อนให้ผู้ฟังรับทราบว่าคนไทยที่เดินทางไปที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ช่วยเหลือทีมหมูป่าติดถ้ำที่ขุนน้ำนางนอน และเป็นข่าวดังทั่วโลก พอเขาเห็นพาสปอร์ตว่าเป็นคนไทย เขารู้สึกดีต่อคนไทยและประเทศไทยมาก
จึงอยากให้ทุกคนตระหนักว่า Soft Power มีคุณค่าที่เราต้องสร้างมันขึ้นมาด้วยหัวใจ ไม่ได้เห็นเพียงแค่เงิน