สิงห์ เบเวอเรช ร่วมกับ TMC สวทช. เปิดโรงงานโชว์ความสำเร็จโครงการ TIME ช่วยยกระดับขีดความสามารถภาคเอกชนพร้อมพัฒนาคนตอบโจทย์อุตสาหกรรม
วันนี้(8 สิงหาคม 2565) ณ บริษัท สิงห์ เบเวอเรช จำกัด จ.นครปฐม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ร่วมกับ บริษัท สิงห์ เบเวอเรช จำกัด เปิดโรงงานเยี่ยมชมความสำเร็จภายใต้ “โครงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการนวัตกรรมองค์กรแบบทั่วถึง (Total Innovation Management Enterprises Program: TIME)” ที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถภาคเอกชน-พัฒนาคนตอบโจทย์อุตสาหกรรม ให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสร้างนวัตกรรม และเติบโตบนฐานของการสร้างนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงตอบโจทย์ภาคการศึกษาที่ได้ทำงานใกล้ชิดและเข้าใจบริบทของการผลิตระดับอุตสาหกรรม นำไปสู่การผลิตบัณฑิตที่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชนจากการทำงาน 2 ปีในโรงงาน
โดยมี นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว.,คุณปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด, คุณสุชิน อิงคะประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ เบเวอเรช จำกัด, ผศ.ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ผู้แทน บพค., ศ.ดร.พญ. พัชรีย์ เลิศฤทธิ์ ประธานที่ประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยของรัฐ (ทคบร.) และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล,นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) เข้าร่วมงาน
ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวว่า โครงการ TIME เป็นโครงการที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการพัฒนากระบวนการ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยบริษัทและทีมที่ปรึกษาของโครงการ TIME จะวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการโดยมีทีมอาจารย์จากสถาบันการศึกษาให้คำปรึกษาในการวิจัยซึ่งกำกับดูแลโดยประธานหลักสูตรของสถาบันการศึกษานั้น ๆ และนักศึกษาปริญญาโทจะเข้าไปวิจัยและทำงานในสถานประกอบการตลอดระยะเวลา 2 ปี ทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับบุคลากรของบริษัท
ขณะเดียวกันทีมที่ปรึกษาของโครงการ TIME จะถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการเพื่อสร้างนวัตกรรม กระตุ้นให้เกิดการมองความต้องการของตลาด จุดที่จะต้องทำวิจัยพัฒนา และความร่วมมือกันของบุคลากรหลายๆ ฝ่ายในบริษัท ซึ่งมีข้อดีคือ ในระยะเวลา 2 ปี สิ่งที่บริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการจากงานวิจัยจะสามารถนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้ทันที ต่างจากเดิมที่การทำวิจัยจะเริ่มจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อน เมื่อสำเร็จแล้วจึงดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์หรือการพัฒนาด้านการตลาดในภายหลัง
ดร.บรรพต หอบรรลือกิจ ที่ปรึกษา ฝ่ายยุทธศาสตร์และติดตามประเมินผล ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า กิจกรรมในโครงการ TIME เริ่มต้นจากการส่งผู้เชี่ยวชาญไปวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมของกระบวนการผลิต, ผลิตภัณฑ์ และการบริการ 2. มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนที่มีทักษะสูง โดยโครงการฯ จะนำเสนอกิจกรรมภายใต้แผนการดำเนินงาน การเลือกหัวข้อองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับโครงการ นำไปสู่การออกแบบแผนงานของโครงการร่วมกัน 3 ฝ่าย คือผู้ประกอบการ, อาจารย์ที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาโครงการ TIME เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันตั้งแต่กระบวนการการคัดสรรนักศึกษา, การจัดอบรม และการกำกับกระบวนการทำโครงงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาจนสิ้นสุดหลักสูตร
คุณปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า จากนโยบายที่มุ่งสู่การเป็น Smart Factory มีการนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิต การวิจัย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จึงต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยสิ่งที่บริษัทต้องการคือความรู้เชิงลึก ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสถานประกอบการ ซึ่งแนวทางการดำเนินการของโครงการ TIME สอดคล้องกับความต้องการของบริษัท ในด้านการนำบุคลากรที่มีความรู้เชิงลึกทางทฤษฎีมาเชื่อมโยงกับพนักงานที่มีทักษะในการปฏิบัติงานจริง เพื่อสร้างนวัตกรและนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และเป็นไปในแนวทางเดียวกับแผนการพัฒนาพนักงานของบริษัทฯ อีกทั้งบริษัทฯ ต้องการให้โอกาสทางการศึกษา การประกอบอาชีพ รวมทั้งให้การสนับสนุนและพัฒนาทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศและอุตสาหกรรม เพื่อให้มีบุคลากรที่มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาด สิ่งที่บริษัทได้รับจากการดำเนินโครงการคือการเรียนรู้กระบวนการในการพัฒนา เพื่อให้พนักงานสามารถต่อยอดองค์ความรู้ในการสร้างนวัตกรรมจนได้นวัตกรรมในกระบวนการผลิตใหม่ ๆ ให้กับองค์กร บุคลากรมีการพัฒนาและสามารถปฏิบัติงานร่วมกับเทคโนโลยีขั้นสูงได้ เกิดการวิจัยพัฒนากากอุตสาหกรรม โดยการเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูงขึ้น และสามารถลดต้นทุนและเพิ่ม Productivity ให้กับบริษัทฯ อีกด้วย
นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่าBOI ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนากำลังคน ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการลงทุน และพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งนวัตกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศที่ต้องการกำลังคนที่มีทักษะสูงและเหมาะสม
ด้วยเหตุนี้ BOI จึงส่งเสริมภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ TIME ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติมแก่บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมและมีการฝึกอบรมพัฒนาทักษะบุคลากรในเทคโนโลยีสำคัญ หรือมีการวิจัยพัฒนาทั้งกระบวนการผลิต หรือผลิตภัณฑ์ในโครงการดังนี้ 1. สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) ด้านการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งการดำเนินการเอง หรือการว่าจ้างผู้อื่นในประเทศ หรือการร่วมวิจัยและพัฒนากับองค์กรในประเทศหรือต่างประเทศ โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติมสูงสุด 5 ปี ในวงเงินร้อยละ 300 ของเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และการจัดฝึกอบรมหรือฝึกการทำงานเพื่อพัฒนาทักษะเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับนักศึกษาที่อยู่ระหว่างการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้คิดเป็นร้อยละ 200 ของเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
2.สิทธิและประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กรณีผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนประเภทกิจการเป้าหมายมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หรือความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่นๆ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จะได้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้เพิ่มเติม โดยจะต้องยื่นแผนความร่วมมือในการรับนักเรียนหรือนักศึกษาเข้าฝึกอาชีพ ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงานทั้งหมดในโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน หรือไม่น้อยกว่า 40 คน แล้วแต่จำนวนใดต่ำกว่า
ทั้งนี้ โครงการ TIME จึงถือเป็นโครงการหนึ่งที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 หรือการสร้างให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจบนฐานของนวัตกรรม ทำให้ประเทศมีความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และยกระดับอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ผู้ประกอบการที่สนใจโครงการ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ดร.บรรพต หอบรรลือกิจโทร. 081- 449-5365 อีเมล banpot.hor@ncr.nstda.or.th