ไซเบอร์ อีลีท จับมือ ไอบีเอ็ม ยกระดับการป้องกันภัยคุมคามโลกไซเบอร์ พร้อมให้บริการ CSOC มั่นใจส่วนแบ่งตลาด 30% ขึ้นอันดับ 1 ผู้ให้บริการ CSOC ในไทย ภายใน 3 ปี ด้านไอบีเอ็มเผยการโจมตีทางไซเบอร์ในเอเชียเพิ่มสูง และทวีความซับซ้อน ตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนที่องค์กรต้องลงทุนเทคโนโลยีเพื่อป้องกัน
ดร. ศุภกร กังพิศดาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซเบอร์ อีลีท จำกัด ในกลุ่มเบญจจินดา กล่าวว่า ในครึ่งปีแรกของการเปิดดำเนินการ บริษัทฯ มีอัตราการเติบโตเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยมีอัตราการเติบโต Year-Over-Year Growth เกินกว่า 400% โดยรายได้หลักมาจากการให้บริการด้าน Cyber Security Solution และ Security Advisory ในขณะที่มีดำเนินการยกระดับบริการ Managed Security Services ให้สอดคล้องกับบริบทในการดำเนินธุรกิจ
สำหรับทิศทางในครึ่งปีหลังของปี 2565 ไซเบอร์ อีลีท จะดำเนินการสานต่อความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในแต่ละส่วนที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มการให้บริการป้องกันภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายตั้งแต่องค์กรระดับ SMB ถึงองค์กรระดับ Enterprise ครอบคลุมธุรกิจภาคการเงิน พลังงาน โทรคมนาคม ภาครัฐ รวมทั้งองค์กรที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) ที่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และเนื่องจากบริการนี้เป็นส่วนหนึ่งของบริการ Managed Security Services ที่ ไซเบอร์ อีลีท ให้บริการอยู่แล้ว สำหรับลูกค้าเดิมจึงสามารถต่อยอดไปใช้บริการดังกล่าวได้ทันที ขณะที่ลูกค้าใหม่ ทั้งที่ไม่เคยใช้บริการรายใดหรือต้องการย้ายมารับบริการไซเบอร์ อีลีท ก็มารับบริการได้ในอัตราค่าบริการที่สามารถรองรับได้ คิดเป็นสัดส่วนลูกค้าใหม่ และลูกค้าเก่า ที่ยกระดับบริการในอัตรา 50:50
ดร. ศุภกร กล่าวอีกว่า การสร้างธุรกิจด้าน Managed Security Services ของไซเบอร์ อีลีท มีกลยุทธ์หลักคือ “Managed everything with forward-looking cyber risk awareness” โดยที่มุ่งเป้าไปที่การสร้างบริการที่หลากหลายและแตกต่างที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถเห็นความเสี่ยงทางด้านไซเบอร์ภายในองค์กรได้ก่อนที่เหตุจะเกิด เพื่อที่จะสามารถวางแผนป้องกันได้ล่วงหน้า ซึ่งปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของกลยุทธ์นี้คือ ข้อมูลที่มีคุณภาพ บุคลากรที่มีความสามารถ และที่ขาดไม่ได้คือ เทคโนโลยีชั้นนำที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการวิเคราะห์ประเด็นความเสี่ยงและภัยคุกคาม รวมทั้งช่วยลดเวลาในการเผชิญเหตุทางไซเบอร์ได้
ทั้งนี้ไซเบอร์ อีลีท ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตร พร้อมนำเทคโนโลยีระดับโลกของไอบีเอ็มเข้ายกระดับการให้บริการศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคาม เป็น “ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์แบบครบวงจร” หรือ “Cyber Security Operations Center (CSOC)” เพื่อช่วยองค์กรเฝ้าระวังภัยคุกคามไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง ตรวจจับการโจมตีได้อย่างรวดเร็วก่อนที่จะสร้างความเสียหายแก่องค์กรด้วยเทคโนโลยีชั้นนำจากไอบีเอ็ม
ความร่วมมือระหว่างไซเบอร์ อีลีท และ ไอบีเอ็ม ในครั้งนี้จะผสานความแข็งแกร่งระหว่างกันให้ดูแลป้องกันภัยคุกคามให้กับลูกค้าได้อย่างแข็งแกร่ง ด้วยจุดเด่น ของไซเบอร์ อีลีท มีบุคลากรที่มีประสบการณ์ และมีความเข้าใจบริบทด้านการบริหารจัดการด้านไซเบอร์ขององค์กร รวมทั้งมีความสามารถในการออกแบบและติดตั้งเทคโนโลยีด้านความมั่นคงปลอดภัยที่ทันสมัยเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าของแต่ละองค์กร ขณะที่ไอบีเอ็ม เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก
“ความร่วมมือระหว่างไซเบอร์ อีลีท กับไอบีเอ็มในครั้งนี้เป็นการยกระดับเทคโนโลยี Threat Intelligence จากภายนอกเข้าไปเพื่อเสริมความสามารถในการรับรู้เทรนด์ของภัยคุกคามล่าสุด เพื่อให้ระบบตรวจจับและตอบสนองต่อภัยคุกคามไซเบอร์ได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น” ดร.ศุภกรกล่าว
สำหรับจุดเด่นของบริการ CSOC ของ Cyber Elite ที่มีความเชื่อถือได้ด้วย การได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC27001:2013 (Information Security Management System) และ ISO27701:2019 (Privacy Information Management System) การเฝ้าระวังภัยคุกคามไซเบอร์แบบ 24 x 7 จัดเก็บ Log ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ แจ้งเตือนเมื่อเกิดภัยคุกคาม ให้คำแนะนำอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ลงพื้นที่เพื่อรับมือ ตอบสนอง เพื่อช่วยระงับเหตุการณ์ และแก้ไขภัยคุกคามไซเบอร์ การจัดทำรายงานการแจ้งเตือนจากฐานข้อมูล Threat Intelligence และรายงานเหตุการณ์ภัยคุกคามที่ตรวจพบ พร้อมระบุคำแนะนำอย่างครบถ้วน การจัดทำเงื่อนไขการตรวจจับและวิธีปฏิบัติเพื่อตอบสนองต่อเหตุผิดปกติให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมขององค์กร การตรวจจับภัยคุกคามเชิงรุกด้วยบริการ Threat Intelligence, Threat Hunting, User and Entity Behavior Analytics และอื่นๆ
นอกจากนี้ ไซเบอร์ อีลีท ได้จัดรูปแบบโซลูชันและจัดทำกระบวนการด้านความมั่นคงปลอดภัยแก่ลูกค้าโดยพิจารณาจากสภาพแวดล้อมขององค์กรเป็นหลัก ซึ่งองค์กรแต่ละรายจะได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสมต่อสภาพความเสี่ยงต่อภัยคุกคามของแต่ละองค์กร
สำหรับปี 2565 ตลาด Cyber Security ยังเติบโตในอัตราประมาณ 10% ในขณะที่ตลาดของ Managed Security Service มีการเติบโตในอัตราประมาณ 10-15% บริการ CSOC ของไซเบอร์ อีลีท ตั้งเป้ารายได้ปีแรกของการให้บริการ CSOC ไว้มูลค่า 150 ล้านบาท และรายได้ในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย 350 ล้านบาท ถึง 400 ล้านบาท จากลูกค้าที่ได้ตามเป้าหมายในกลุ่มภาคการเงิน ภาครัฐ และภาคธุรกิจที่เป็นองค์กรภายใต้กำกับของหน่วยงานกำกับต่าง ๆ
“ไซเบอร์ อีลีท ใช้งบลงทุนใน CSOC ประมาณ 30-50 ล้านบาท ซึ่งความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับไอบีเอ็ม ทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งอื่นๆ ในไทย การดูแลลูกค้า ตลอดจนเป็นไปตามเป้าหมายการขยายฐานลูกค้าของไซเบอร์ อีลีทไปในประเทศอาเซียน ” ดร.ศุภกร กล่าว
ด้านคุณภาวศุทธิ ศรีวิโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม ซอฟต์แวร์ กล่าวว่า แนวโน้ม การโจมตีทางไซเบอร์ในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยมุ่งเป้าที่ธุรกิจเฮลท์แคร์ ธนาคาร บริการทางการเงิน และรีเทล ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในกลุ่มเฮลท์แคร์ หรือกลุ่มเหล่านี้ อาจจะไม่มีบุคลากรที่มีความเข้าใจเรื่องซีเคียวริตี้มากพอ ขณะเดียวกันการโจมตีทางไซเบอร์ก็ทวีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าว จะพบความซับซ้อนใน 3 เรื่อง เรื่องแรก คือ แรนซัมแวร์ที่เดิมจะโจมตีไปองค์กรใด องค์กรหนึ่ง ปัจจุบันแรนซัมแวร์มีความฉลาดมากขึ้นสามารถโจมตีและไปถึงซัพพลายเชนหรือลูกค้าของลูกค้าได้เลย ทำให้มีความยากลำบากที่จะหาการโจมตีที่เกิดขึ้น เรื่องที่สองเป็นเรื่องคลาวด์ ที่องค์กรส่วนใหญ่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีหลายรูปแบบ ทำให้การโจมตีมีเข้ามาหลาย ๆ จุดที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งแบบพับบลิคคลาวด์ ไฮบริด รวมถึงเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีการนำมาใช้ ซึ่งได้กลายเป็นจุดหลบซ่อนของแรนซัมแวร์ทำให้ค้นพบได้ยากขึ้น และสุดท้ายคือเรื่องของ Zero trust ที่มีแนวคิดว่าระบบเครือข่ายทั้งหมดไม่ควรไว้ใจซึ่งกันและกัน ทั้งระบบเครือข่ายภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเข้าไปตรวจจับมากขึ้น และตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่องค์กรต้องเร่งลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยมอนิเตอร์ ตรวจจับ หรือตอบสนองการโจมตี
“ในแต่ละวันไอบีเอ็มเฝ้าติดเหตุการณ์ด้านความปลอดภัย 150,000 ล้านเหตุการณ์ ในกว่า 130 ประเทศ โดยเป็นหนึ่งในผู้นำโลกที่มีศักยภาพครอบคลุมที่สุดในแง่การวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยีด้านซิเคียวริตี้ เมื่อผนวกเทคโนโลยี SOAR, SIEM และ UEBA ระดับโลกของไอบีเอ็ม เข้ากับความเข้าใจในสภาพแวดล้อมของภัยคุกคามไซเบอร์ในไทยเป็นอย่างดีของไซเบอร์ อีลีท จึงเป็นสองพลังที่จะช่วยองค์กรจัดการความเสี่ยงและป้องกันภัยคุกคามใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” คุณภาวศุทธิ กล่าว