“วรุณา” ในเครือเออาร์วี จับมือ“อีซีไรช์” Agri-Tech ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย เพิ่มมาตรฐานเกษตรครบวงจร แข่งขันได้ในตลาดโลก
นางสาวพณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้บริหารด้านธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทในเครือ เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี เปิดเผยว่า วรุณามีจุดมุ่งหมายในการยกระดับคุณภาพเกษตรกรไทย โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในวงการเกษตรกรรม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเกษตรไทยมาโดยตลอด ล่าสุดร่วมมือกับ อีซีไรช์ (Easy Rice) สตาร์ทอัพซึ่งมีแนวคิดและมุ่งมั่นยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทยด้วยการประยุกต์กับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมไปถึงรวบรวมข้อมูลกระบวนการผลิต ตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภคให้อยู่ในแฟลตฟอร์มดิจิทัล
ทั้งนี้วรุณาและอีซีไรช์ จะร่วมกันพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ให้สอดคล้องกับแนวคิด Agri-Tech ที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยให้ยั่งยืน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเกษตร (Value Chain) โดย วรุณา จะเข้าไปมีส่วนร่วมใช้เทคโนโลยีจัดการภาคการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ ในเรื่องการจัดการเกษตรอัจฉริยะแบบครบวงจร เพื่อวางแผนและเพาะปลูกในภาคการเกษตรแบบครอบคลุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวิเคราะห์ วางแผนการเพาะปลูก และจัดการแปลงผลผลิต ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม (Satellite) กับโดรนสำรวจและภาพถ่าย (Multispectral Drone) ซึ่งสามารถวิเคราะห์แปลงเกษตรได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผ่านแพลตฟอร์ม “Varuna Analytics” ช่วยติดตามสุขภาพของข้าว (Crop Health Monitoring) ติดตามการเจริญเติบโต (Growth Stage Monitoring) และช่วยคาดการณ์ผลผลิต (Yield Prediction) ว่าได้มาตรฐานที่ควรจะเป็นตามระยะเวลานั้นๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีบริการโดรนการเกษตร (Sprayer Drone) “เจ้าเอี้ยง” ช่วยดูแลเรื่องการพ่นปุ๋ยและฉีดผลิตภัณฑ์การเกษตรได้สะดวกขึ้น สามารถเข้าถึงแปลงนาข้าวขนาดใหญ่ได้ง่ายและรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพการพ่นปุ๋ยตรงแปลง ไม่เปลืองผลิตภัณฑ์การเกษตร ช่วยลดเวลาการทำงาน และเกษตรกรไม่ต้องสัมผัสสารเคมี
สำหรับอีซีไรช์ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำเครื่องตรวจคุณภาพข้าวหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งการจับมือร่วมกันของทั้งสององค์กร จะมีส่วนช่วยเติมเต็มด้านเทคโนโลยีซึ่งกันและกันให้ครบทั้ง Value Chain อุตสาหกรรมเกษตรข้าวไทย และผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวของไทยสามารถเป็น Smart Farmer ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ทั้งนี้อีซีไรช์ (Easy Rice) เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ให้บริการโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมข้าว อาทิ โรงสีและผู้ส่งออกข้าว โดยใช้ AI เพื่อกระบวนการตรวจสอบคุณภาพและสายพันธุ์ข้าว ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่า 100 รายผู้ใช้งาน
นายภูวินทร์ คงสวัสดิ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง บริษัท อีซี่ไรซ์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า ในความร่วมมือครั้งนี้ อีซีไรช์ มองถึงโอกาสในการเพิ่มศักยภาพและการต่อยอดทางเทคโนโลยีเพื่อขยายกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ข้าว โดยใช้แหล่งข้อมูลจากที่มาของเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรของวรุณา และเล็งเห็นว่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะร่วมกันสร้างเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความต้องการในตลาด ตลอดจนสร้างความโปร่งใส การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในการทำการเกษตร ความเป็นธรรมที่ให้กับผู้ปลูก รวมไปถึงสุขภาพของผู้บริโภคและบริการอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายในห่วงโซ่อุปทานข้าว อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้อีซีไรช์ ยังใช้เครื่องมือเพื่อเพิ่มทางเลือกในการตรวจสอบมากขึ้น จากเทคโนโลยีที่ตรวจสอบเพียงกายภาพ สู่การตรวจขั้นสูงให้ลึกถึงสารอาหารภายในผลผลิต สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ประกอบการในการติดตาม (Tracking) และบันทึกข้อมูล นำไปสู่ระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านกระแสความนิยมเรื่องสุขภาพของผู้บริโภค และช่วยเป็นมาตรฐานในการซื้อขาย ขณะที่ภาคเกษตรกรรมจะได้รับประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดีพเทคและความร่วมมือของทั้งวรุณาและอีซีไรช์ โดยผู้ประกอบการโรงสีจะมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นในการตรวจสอบคุณภาพข้าว สามารถจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่ต้นน้ำ ทำให้ตรวจสอบย้อนหลังได้ สร้างความเชื่อมั่นกับประเทศนำเข้า และยังสามารถช่วยเหลือเกษตรกรตรวจสอบพันธุ์ข้าวก่อนปลูกเพื่อช่วยลดต้นทุนด้านใช้เมล็ดพันธุ์ รวมไปถึงการบริหารจัดการภายในกลุ่มหรือชุมชน เพื่อนำไปสู่การทรานฟอร์มอุตสาหกรรมให้เป็นดิจิทัลและรองรับการแข่งขันในอนาคต
“วรุณาและอีซีไรช์ เรามีความตั้งใจจะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มข้าวในประเทศไทย และพยายามหาวิธีแก้ปัญหาเรื้อรังของเกษตรกร ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการ “แก้จน” ให้กับชาวนาไทย นำเสนอแนวทางที่เป็นมาตรฐานของการเพาะปลูกข้าวแต่ละประเภท รวมทั้งการปรับปรุงข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ทำให้มีผลผลิตที่ดียิ่งขึ้น เพิ่ม Productivity รายแปลงได้จริง เปิดประตูโอกาสส่งออกข้าวไทยด้วยการใช้ข้อมูล การใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการส่งออก นับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อปฏิบัติตามมาตรการนำเข้าของประเทศต่างๆ และยังป้องกันนโยบายกีดกันทางการค้าในอนาคตได้อีกด้วย” นางสาวพณัญญา กล่าว