สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สมัยที่ 26 แห่งสหประชาชาติ พร้อมนำเสนอความสำเร็จจากการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากอวกาศเพื่อการพัฒนาประเทศ
โดย คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific, ESCAP: เอสแคป) ได้จัดการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สมัยที่ 26 (The 26th Session of the Intergovernmental Consultative Committee on Regional Space Application Program for Sustainable Development, 26th ICC on RESAP) ระหว่างวันที่ 18-19 สิงหาคม 2565 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
การประชุม ICC on RESAP จัดเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ประเทศสมาชิกเอสแคป (จำนวน 53 ประเทศ) และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้หารือ สร้างความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และรายงานความคืบหน้าล่าสุดในการอนุมัติแผนปฏิบัติการว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Plan of Action on Space Applications for Sustainable Development 2018-2030: แผนปฏิบัติการฯ) ซึ่งได้รับการรับรองจากนานาชาติในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 3 (การประชุมระดับรัฐมนตรีฯ) เมื่อปี 2561 ณ กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ การประชุมฯ สมัยที่ 26 มีความสำคัญและพิเศษเพิ่มยิ่งขึ้นนั่นคือเป็นการเตรียมความพร้อมของการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีฯ สมัยที่ 4 ซึ่งมีกำหนดจัดในเดือนตุลาคม 2565 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และเป็นการจัดเตรียมเนื้อหา/ประเด็น ที่จะเป็นผลลัพธ์สำคัญของการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ สมัยที่ 4 เช่น ปฏิญญาจาการ์ตาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยอวกาศเพื่ออนาคตของโลก/โครงการปฏิบัติการรวมกลุ่มดาวเทียมสำรวจโลกเสมือนจริงสำหรับใช้ในการเตรียมความพร้อมรับมือก่อนการเกิดภัยพิบัติ/การเร่งการอนุวัติแผนปฏิบัติการฯ ในระยะที่ 2 (ค.ศ. 2022-2026)/การส่งเสริมเวทีผู้เชี่ยวชาญรุ่นเยาว์ด้านอวกาศ เป็นต้น
ผู้แทนประเทศไทยจาก GISTDA นำโดยนายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการ GISTDA และคณะได้เข้าร่วมการประชุมฯ รายงานผลการอนุวัติแผนปฏิบัติการฯ ในระยะที่ 1 (ค.ศ. 2018-2022) ของไทยในด้านต่างๆ ที่สามารถเห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ได้แก่ การประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในด้าน (1) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ป่าไม้/น้ำ/ทะเลและชายฝั่ง) (2) การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (ไฟป่า/น้ำท่วม/ภัยแล้ง) (3) พัฒนาการทางสังคม (แผนที่ความยากจน-รายได้ประชากร/มลพิษทางอากาศ/การบริหารจัดการสถานการณ์ COVID-19) (4) ความเชื่อมโยง (การบริหารจัดการอุบัติเหตุทางรถยนต์) (5) พลังงาน (แผนที่พลังงานทางเลือก-พลังงานแสงอาทิตย์) และ (6) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (แผนที่คาร์บอนเครดิต)
นอกจากนี้ ผู้แทนไทยยังได้นำเสนอแพลตฟอร์มสำหรับใช้/พัฒนา การประยุกต์ใช้ข้อมูลสารสนเทศแบบเปิด “Sphere” เพื่อเร่งผลักดันการอนุวัติแผนปฏิบัติการฯ ในระยะที่ 2 ให้ที่ประชุมฯ พิจารณา ซึ่ง Sphere ก็ได้รับความสนใจและการตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงแนวความคิดในการร่วมสนับสนุนการจัดตั้ง Satellite constellation จากกลุ่มดาวเทียมของสมาชิกเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการภัยพิบัติ โดยประเทศสมาชิก UN-ESCAP จะหารือความร่วมมือกันในเรื่องนี้ต่อไป