กฟผ.เผยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมบางปะกงจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 1,400 เมกะวัตต์ให้กับโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ เทียบเท่ากับความต้องการใช้ไฟฟ้าของกว่า 3 ล้านครัวเรือน และจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโรงไฟฟ้าได้ ระบุจีอีได้จัดหาอุปกรณ์ให้กับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมแบบ H-Class นี้ รวมทั้งจะให้บริการด้านอะไหล่ และบริการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าในระยะยาวอีกด้วย
วันนี้ (8 กันยายน พ.ศ. 2565) จีอี (NYSE: GE) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ ประกาศเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 1 และ 2 ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าบางปะกงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 ซึ่งดั้งเดิมนั้นประกอบด้วยโรงไฟฟ้าจำนวน 5 ชุดที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและดีเซลเป็นเชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมใหม่สองชุดนี้ที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงและขับเคลื่อนด้วยอุปกรณ์ของจีอีจะผลิตไฟฟ้าแทนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ปลดระวางแล้ว และควบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าบางปะกง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโรงไฟฟ้า
โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกงสอดคล้องกับเป้าหมายของ กฟผ. ในการเพิ่มประสิทธิภาพและเสถียรภาพ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ด้วยการใช้อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่มีประสิทธิภาพสูง
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมบางปะกง นับเป็นการพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าและทันสมัยครั้งสำคัญ และยังดำเนินการตามนโยบายของรัฐที่ให้ปลดระวางโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพต่ำและมีอายุการใช้งานมานานมากแล้ว โดยทดแทนด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมรุ่นใหม่ที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งตอบโจทย์การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มเสถียรภาพและความยืดหยุ่นของระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ กฟผ. มีความไว้วางใจจีอี ในฐานะผู้ให้บริการด้านพลังงาน ซึ่งมีเทคโนโลยีที่พร้อมรองรับความต้องการในอนาคตที่จะช่วยให้เราสามารถจัดหาพลังงานที่มีเสถียรภาพและยั่งยืนมากขึ้นให้กับประชาชน ทั้งในปัจจุบันและในปีต่อๆ ไป
โรงไฟฟ้าใหม่ทั้งสองชุดนี้จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่ากับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนราว 3 ล้านครัวเรือน โดยจะผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันก๊าซ 9HA.02 ของจีอี เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยใช้จำนวน 2 เครื่อง 9HA.02 เป็นกังหันก๊าซความถี่ 50 เฮิรตซ์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดของจีอี นอกจากนี้ยังมีกังหันไอน้ำ STF-A650 ที่ล้ำหน้า 2 เครื่อง และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า W86 จำนวน 2 เครื่อง และจีอียังได้ลงนามสัญญาระยะยาวกับกฟผ. ในการให้บริการด้านอะไหล่และซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าอีกด้วย
นายราเมช สิงการาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจพลังงานก๊าซ ประจำภูมิภาคเอเชีย จีอี กล่าวว่า ในประเทศไทย จีอีได้สนับสนุนการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายด้านพลังงานของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับกฟผ. ซึ่งเป็นลูกค้าของเรามาอย่างยาวนาน การขยายตัวของการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนประเทศไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่ต่ำลงอีกในอนาคต เพราะการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงไม่เพียงแต่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน แต่ยังเป็นเทคโนโลยีปลายทางในอนาคตด้วย
“จีอีในฐานะผู้นำระดับโลกด้านความยืดหยุ่นของเชื้อเพลิงที่ใช้กับกังหันก๊าซ เรากำลังปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า (ทั้งโรงไฟฟ้าใหม่และโรงไฟฟ้าเดิมที่ใช้อยู่) ผ่านการผสมผสานเทคโนโลยีทั้งก่อนและหลังการเผาไหม้ ความก้าวหน้าในการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง และแนวทางการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ช่วยให้กังหันก๊าซเป็นเทคโนโลยีปลายทาง ไม่ใช่เป็นเพียงการลงทุนระยะสั้นในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้น” นายราเมช กล่าวเสริม
กังหันก๊าซของ GE ทำงานโดยใช้เชื้อเพลิงที่มีไฮโดรเจนเป็นส่วนผสมในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงโรงงานเหล็ก โรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานปิโตรเคมี มานานหลายทศวรรษแล้ว กลุ่มผลิตภัณฑ์กังหันก๊าซ H-Class ของจีอี มีระบบการเผาไหม้ DLN 2.6e ทำให้สามารถใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงได้ในอัตราส่วน 50% เมื่อผสมกับก๊าซธรรมชาติ ระบบการเผาไหม้นี้เป็นคุณสมบัติมาตรฐานของกังหันก๊าซรุ่น 9HA.01/9HA.02/7HA.03
ในปัจจุบัน กลุ่มผลิตภัณฑ์กังหันก๊าซ H-Class ของจีอี มีการเติบโตเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มผลิตภัณฑ์ระดับเดียวกัน โดยปัจจุบันมีลูกค้ามากกว่า 50 รายใน 20 ประเทศ จีอีคาดว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของกังหันก๊าซ HA สำหรับใช้งานเชิงพาณิชย์จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในปีพ.ศ. 2565 นี้
ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 51 กิกะวัตต์ (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2565 ที่มา: Enerdata) และการใช้ก๊าซมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 (เพิ่มขึ้น 5.1 กิกะวัตต์) โดยมีส่วนแบ่งมากที่สุดคิดเป็น 51% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด GE ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 ปัจจุบัน 30% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดในประเทศ มาจากอุปกรณ์ของจีอี ก๊าซ พาวเวอร์ โดยมีการใช้กังหันก๊าซของจีอีมากกว่า 100 เครื่อง และจีอียังเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ดำเนินธุรกิจด้านต่างๆ รวมถึงธุรกิจพลังงาน การบิน และการดูแลสุขภาพ จีอีมีสำนักงานสองแห่งในประเทศไทย รวมทั้งมีศูนย์บริการและจัดหาอุปกรณ์สำหรับการทำงานของกังหันก๊าซ