นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) วว. และคณะเข้าร่วมการประชุมสรุปการดำเนินงานโครงการมาลัยวิทยสถาน อว. ภายใต้โครงการไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่ง วว. ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินการครบวงจรในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ คัดเลือกสายพันธุ์ ระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับตามหลักความพอดีไม่เหลือทิ้ง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพปลอดภัยด้วยต้นทุนที่เหมาะสม มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มมูลค่าเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวในจังหวัด พร้อมนี้ยังได้มอบถังขยายชีวภัณฑ์ระดับชุมชนและบรรจุภัณฑ์ไม้ดอกไม้ประดับออนไลน์ ผลงานวิจัยพัฒนา วว. ให้แก่ผู้แทนเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเลยจำนวน 11 ราย โอกาสนี้ นางสาวภูมารินทร์ คงเพียรธรรม นายอำเภอภูเรือ และ นางอารีรัตน์ ศิริโชติ เกษตรอำเภอหนองหิน รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอภูเรือ พร้อมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนเกษตรกร เข้าร่วมการประชุมฯ ในวันที่ 13 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมคริสต์มาส ที่ว่าการอำเภอภูเรือ ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย
ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัย ศนก. วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการไม้ดอกไม้ประดับพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก กล่าวว่า วว. ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเลยและจังหวัดลำปาง โดยเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตร ตามแนวทางมาลัยวิทยสถาน อว. มีผลการดำเนินงานสำเร็จเป็นรูปธรรมคือ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 200 ราย โดยสร้างความเชื่อมโยงผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้สามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องปัจจัยการผลิต วัสดุปลูกที่เหมาะสมต่อการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ พัฒนาผลิตภัณฑ์ภาชนะเพาะปลูกและเม็ดดินเผาจากวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น การยกระดับระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับและรับรองการผลิตไม้ดอกไม้ประดับตามมาตรฐาน GAP รวมทั้งพัฒนาแปลงต้นแบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในรูปแบบ smart farm และนำเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในไม้ดอกและไม้ประดับเพื่อปรับปรุงคุณภาพและส่งเสริมการจัดจำหน่ายออนไลน์ ให้ผู้ประกอบการนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ จนสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไม้ดอกไม้ประดับของตนเองได้ ช่วยพัฒนาศักยภาพในการผลิต การแข่งขัน การลดต้นทุน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร เพื่อให้ผู้ประกอบการมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป
นายสายันต์ ตันพานิช กล่าวให้ข้อเสนอแนะว่า จากการดำเนินโครงการการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตร ด้วยแนวทางมาลัยวิทยสถาน อว. โดย วว. นั้น ส่งผลทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่ต้นแบบจังหวัดเลยและลำปาง เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ รวมทั้งเกิดกระบวนการพัฒนาแนวทางในการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับตั้งแต่วัสดุปลูก การใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร การเข้าถึงระบบฐานข้อมูล การปลูกเลี้ยงในรูปแบบเกษตรปลอดภัย และการพัฒนาระบบบรรจุพัฒนาเพื่อการขนส่งสำหรับตลาดออนไลน์ สามารถปรับกระบวนการผลิตไม้ดอกไม้ประดับเพื่อให้เกิดมูลค่าสูงสุดตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ ควรมีการนำกระบวนการผลิต การขยายการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกร และชนิดพรรณไม้ไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไป เพื่อขยายผลและส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรให้เข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิต มีเศรษฐกิจมั่นคงยั่งยืน