สทน.เผยการตรวจสอบอายุสมัยพระเครื่อง โดยใช้วิธีคาร์บอน-14 ไม่ยืนยันว่าพระแท้หรือปลอม ยิ่งเป็น “พระสมเด็จ” ยิ่งไม่สามารถตอบเรื่องอายุที่แท้จริงได้ แจงผลการรับรองคือ ค่าอายุของเนื้อวัสดุที่นำมาทำเป็นพระ ไม่ใช่อายุพระ
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ถูกนำไปกล่าวอ้างในการตรวจสอบพระเครื่อง เพื่อสร้างความน่าเชื่อ และทำให้ ผู้นิยมเช่าพระเครื่อง หรือ ผู้สนใจพระเก่าถูกหลอกขายพระราคาแพง โดยมีการอ้างว่า นำมาตรวจอายุกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(สทน.) แล้ว
ล่าสุด… สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(สทน.) ได้ส่งรายงานชี้แจงในเร่ืองดังกล่าว มีใจความว่า….ปัจจุบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการตรวจสอบหาอายุของโบราณวัตถุ เพราะเป็นเทคนิคการวิเคราะห์ที่ไม่ทำลายตัวอย่าง หรือใช้ตัวอย่างในปริมาณที่น้อยมาก สทน. ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการไอโซโทปรังสี และใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อตรวจวิเคราะห์หาอายุโบราณวัตถุมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ปัจจุบันเทคนิคที่ สทน. ใช้ในการวิเคราะห์มี 2 แบบ คือ การวิเคราะห์โดยอาศัยคาร์บอน -14 (C-14dating) และการวิเคราะห์อายุโดยการเรืองแสงความร้อน (TL/OSL dating) แต่ในไทยนิยมใช้ Carbon-dating มากกว่า
การตรวจสอบอายุโบราณวัตถุ โดยใช้เทคนิคเชิงนิวเคลียร์ที่เรียกว่า คาร์บอนเดทติ้งค์ (Carbon Dating) ซึ่งเป็นการวัดปริมาณการสลายตัวของธาตุคาร์บอน-14 ในวัตถุที่เป็นส่วนประกอบของโบราณวัตถุชิ้นนั้นๆ เพื่อกำหนดอายุ ซึ่งสามารถตรวจวิเคราะห์วัตถุโบราณที่มีหาอายุมากกว่า 200 ปีขึ้นไป และวัตถุนั้นต้องมีธาตุคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ วิธีการนี้นำมาประยุกต์ใช้ในการตรวจวิเคราะห์พวกวัตถุโบราณจำพวกต่างๆ โดยเฉพาะพระเครื่อง
ทั้งนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มบุคคลที่เป็นเจ้าของพระเครื่อง หรือเป็นเจ้าของโบราณวัตถุชนิดต่างๆ นำโบราณวัตถุที่ตนมีจำนวนมากมาตรวจ เพื่อให้ได้ใบรับรองอายุ หลังจากนั้นก็นำกลับไปขายให้ผู้สนใจในราคาสูง แต่ปรากฎว่า มีผู้นำใบรับรองของ สทน.ไปปลอมแปลง หรือทำสำเนา เพื่อประโยชน์ในการให้เช่าพระหลายราย
อย่างไรก็ตามวิธีการวิเคราะห์พระเครื่องด้วยคาร์บอน-14 ผู้ที่มารับบริการต้องยอมให้ สทน.ทำลายตัวอย่างนั้น เพราะขั้นตอนคือ ต้องบดวัตถุให้ละเอียดจนเป็นผง แล้วนำไปวัดค่าการสลายตัวของธาตุคาร์บอน-14 เมื่อผลออกมาทาง สทน.จะออกใบรับรอง ผลการรับรองที่ปรากฏในเอกสารที่ส่งกลับไปให้ผู้บริการ คือ ค่าอายุของเนื้อวัสดุที่นำมาทำเป็นพระ ไม่ใช่อายุพระ และใบรับรองดังกล่าวจะเป็นการรับรองตัวอย่างที่นำมาตรวจเท่านั้น ไม่ได้รวมไปถึงตัวอย่างอื่นๆ ซึ่งแน่นอนตัวอย่างที่รับรองได้ถูกทำลายไปในขั้นตอนการตรวจเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นผู้เห็นใบรับรองที่ออกจาก สทน.ต้องใช้วิจารณญาณในการเช่าพระเครื่อง เพื่อจะไม่ถูกหลอก
การตรวจสอบอายุสมัยพระเครื่อง โดยใช้วิธีคาร์บอน-14 ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเพื่อที่จะยืนยันว่าพระองค์นั้นแท้หรือปลอม ยิ่งกรณีพระสมเด็จ ยังยืนยันว่าวิธีคาร์บอน-14 ไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องอายุที่แท้จริงได้ ประเด็นที่ว่ายาก คือ การตรวจสอบพระสมเด็จหนึ่งองค์ พระสมเด็จองค์นั้น สมมติมวลสารทำมาจากเปลือกหอย เปลือกข้าว เศษพระเก่า บดตำอัดรวมกัน ดังนั้นค่าอายุที่ได้ก็จะเป็นค่าอายุของเปลือกหอย เปลือกข้าว ไม่ได้ค่าอายุขณะที่สร้างพระ นอกเสียจากว่าการสร้างพระมีการเผาแล้วเกิดเขม่าหรือมีเศษถ่านติดที่องค์พระลักษณะนี้อาจจะพอกำหนดอายุได้.