เมื่่อวานนี้ (22 กันยายน 2565) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นำโดยนายพีร์ ชูศรี รองผู้อำนวยการ GISTDA และ ดร.คเณศ วังส์ไพจิตร ผู้ช่วยเลขาธิการด้านเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) พร้อมคณะฯ ให้การต้อนรับคณะเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรจากนานาประเทศ เข้าเยี่ยมชมภารกิจและการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีดิจิทัล ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ (Space Krenovation Park : SKP) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล โฆษก GISTDA และผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศ กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยได้ต้อนรับเหล่าเอกอัครราชทูตพร้อมคณะ ซึ่งมาจากหลายประเทศทั่วโลก อาทิ รัสเซีย อียิปต์ เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ ไนจีเรีย ติมอร์ตะวันออก บาห์เรน คูเวต ซาอุดีอาระเบีย ฟินแลนด์ กัวเตมาลา ไอร์แลนด์ มองโกเลีย บังกลาเทศ ปานามา โคโซโว ฟิลิปปินส์ มัลดีฟส์ กัวเตมาลา และศรีลังกา ที่เข้าเยี่ยมชมภารกิจด้านกิจการอวกาศของไทยในครั้งนี้
“เราได้นำเสนอใน 2 ประเด็นหลักๆ นั่นคือ ความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศ โดยศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ หรือ AIT ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีบุคลากรเชี่ยวชาญ เครื่องมือและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยผ่านการรับรองมาตรฐานในระดับสากล ปัจจุบันเราเริ่มให้บริการพัฒนาและทดสอบชิ้นส่วนดาวเทียม ซึ่งมีหน่วยงานภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาใช้บริการและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เราเชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) ได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน สร้างโอกาสในการได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการทางด้านอวกาศ การเพิ่มศักยภาพของบุคลากรไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรม เพื่อต่อยอดการพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างดาวเทียมในอนาคต”
โฆษก GISTDA กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ 2 เราได้นำเสนอความก้าวหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีในเขตนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านดิจิทัล หรือ EECd ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งที่ผ่านมา GISTDA ให้การสนับสนุนนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลมาโดยตลอด โดยเรามองที่เป้าหมายใหญ่ของประเทศนั่นคือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความรู้ สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ เนื่องจากประชาชนคือกลุ่มคนที่จะเป็นกำลังสำคัญและมีอิทธิพลต่อการพัฒนาระบบโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศในทุกด้าน ซึ่งจะเอื้อต่อการพัฒนา Innovation Ecosystem หรือระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงการสร้าง Innovation Platform และSmart Community เพื่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืน
ดังนั้น จะเห็นว่าพื้นที่ EEC เป็นฐานสำคัญในการขยายธุรกิจเทคโนโลยีขั้นสูงในด้านอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวกับอวกาศ พร้อมทั้งสร้างให้เป็นจุดศูนย์รวมในการเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมอวกาศในภูมิภาค และยังช่วยผลักดันให้ไทยเข้าสู่ Global Value Chain ด้านอวกาศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.