กมธ.แก้จนฯจับมือสกสว.แก้ปัญหาน้ำชุมชน ใช้นวัตกรรมสังคมเพิ่มผลผลิตที่กำแพงเพชร
“รศ.สังศิต พิริยะรังสรรค์” ประธานคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และคณะ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ลงพื้นที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกับนายบุญช่วย หอมยามเย็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร หัวหน้าส่วนราชการและผู้เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดินทำกินของเกษตรกร
ทั้งนี้ได้มีการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน “โครงการวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในเขตโครงการชลประทานท่อทองแดง” ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การสนับสนุนของ สกสว. และสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โดยคบ.ท่อทองแดงเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีเป้าหมายในการลดการใช้น้ำในภาคเกษตร โดยจัดทำงานวิจัยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ รองรับภาวการณ์ลดกำลังคนของเจ้าหน้าที่รัฐ และสร้างความมั่นใจจากเกษตรกรต่อโครงการ โดยสร้างกลไกการสื่อสารระหว่างเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่โครงการซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมาก และสิ่งสำคัญคือ ต้องรักษาธรรมาภิบาลการใช้น้ำและส่งน้ำเข้าพื้นที่อย่างเหมาะสม ผู้นำชุมชนและผู้นำเกษตรกรจะต้องเข้าใจว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในพื้นที่อย่างไร ในฤดูแล้งสามารถประเมินได้ว่าเมื่อมีน้ำต้นทุนและน้ำในเขื่อนมีน้อย สามารถรู้ทันสถานการณ์น้ำถึงวิกฤตในพื้นที่ล่วงหน้าและมีข้อมูลประกอบการขอโควตาน้ำจากกรมชลประทาน
ส่วน “การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เทศบาลตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล” จะเป็นพื้นที่กลางน้ำ โดยมีประตูเปิดปิดผลักดันน้ำเข้านิคมและผันน้ำไปช่วยเกษตรกรในหมู่ต่าง ๆ รวมทั้งสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ดอนที่ไม่สามารถรับน้ำจากคบ.ท่อทองแดงและคบ.วังบัวได้ โดยขุดคลองให้น้ำไหลผ่านและติดตั้งโรงสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ช่วย ในอนาคตจะมีโครงการรับมือภัยแล้งเพิ่มโดยใช้พื้นที่ว่างเปล่า 80 ไร่ ทำเป็นแก้มลิงรับน้ำล่วงหน้าในปลายฤดูฝน ซึ่งชาวบ้านจะของบประมาณทำโครงการดังกล่าว พร้อมขอทำประตูน้ำเพื่อยกระดับน้ำดันขึ้นคลองซอยด้านบนซึ่งเป็นพื้นที่ดอน
ขณะที่ “การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ อบต.หนองไม้กอง อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร” ซึ่งเป็นส่วนท้ายน้ำ พบว่าชาวบ้านได้สร้างธนาคารน้ำใต้ดินความลึกไม่เกิน 1.5 เมตร เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้และป้องกันน้ำท่วมขังเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำ เป็นการแก้ปัญหาโดยใช้งบประมาณก่อสร้างของตนเองในจำนวนไม่มาก แต่ปัญหาปัจจุบัน คือ คลองที่รับน้ำต่อจากทุ่งโพธิ์ทะเลมีประตูน้ำด้านบนค่อนข้างแคบ ทำให้ส่งน้ำลงมาด้านล่างค่อนข้างช้า ในปี 2562 ได้ร่วมกับงานวิจัยปรับพฤติกรรมการใช้น้ำและร่วมแก้ปัญหากันโดยเก็บเงินสมาชิกไร่ละ 5 บาท เพื่อนำมาช่วยกำจัดผักตบชวา แก้ปัญหาท่อรำรุด ฝายกั้นน้ำด้านล่างที่ชำรุด อีกทั้งผลักดันอาชีพปลูกพืชทางเลือกจำพวกสมุนไพร เช่น บอระเพ็ด รางจืด ซึ่งต้องหาตลาดให้ได้
ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่ผู้นำชุมชนร้องเรียน คือ การใช้ประโยชน์จากที่ดินสาธารณะ ซึ่งมีคนเข้าไปครอบครองทำกิน แม้จะมีคำสั่งศาลให้ออกจากพื้นที่ รวมถึงลำคลองสาธารณะและการซ่อมแซมบ่อบาดาลที่ชำรุด ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรรับจะไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคู่ขนานกับการทำงานของ กมธ.แก้ปัญหาความยากจนฯ
นอกจากนี้ยังมีศึกษาดูงาน “โครงการธนาคารน้ำใต้ดินของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในเขตพื้นที่ อบต.หนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก” ซึ่งมีนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมคณะนำชม มีตัวอย่างการเติมน้ำใต้ดินโดยบ่อวง ซึ่งทำไปแล้ว 500 แห่งกระจายทั่วทั้งทุ่งบางระกำ โดยขุดลงไปถึงชั้นทรายที่ความลึกไม่เกิน 12 เมตร และมีโครงการจะดำเนินการเพิ่มอีก 1,000 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นตัวอย่างให้ชุมชนและครัวเรือนดำเนินการเองต่อได้
ประธานกมธ.แก้ปัญหาความยากจนฯ ระบุว่า ปัญหาทรัพยากรน้ำเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดและทุกข์ที่สุดของเกษตรกร จึงต้องบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยเน้นการให้ความรู้ใหม่ ความคิดและจินตนาการใหม่แก่สังคมไทย รวมถึงผลักดันนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาความยากจนร่วมกับวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของพื้นที่ ช่วยกันสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรได้ดี รวดเร็ว ประหยัด มีประโยชน์ และมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากที่สุด โดย อบต. เทศบาล อบจ. กอ.รมน. และภาคธุรกิจ มีบทบาทสำคัญต่อการจัดทำโครงการเก็บกักน้ำในพื้นที่ นอกจากนี้ยังแนะนำให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีการผลิตโดยทำเกษตรผสมผสานแบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น จะทำให้เกษตรกรและครอบครัวตลอดจนผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย ลดต้นทุนการผลิตจากค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลงที่ใช้ในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งส่งผลให้เชื้อจุลินทรีย์ตายหมด ทำให้ดินเสื่อมโทรม และต้องปรับปรุงคุณภาพดินเพื่อให้เพาะปลูกได้ ปัจจุบันมีแนวโน้มต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ราคาผลผลิตไม่มีเสถียรภาพ ขณะเดียวกันปัญหาที่ดินเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่จะต้องหาทางแก้ไข เพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าและมีกินไม่อดอยากหิวโหย ให้คนในประเทศมีความมั่นคงในชีวิต
“เราจำเป็นต้องใช้ทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมสังคมเพื่อให้คนหมู่มากมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคประชาชน เสริมการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐที่ต้องมีทั้งการบริหารจัดการที่ดีและธรรมาภิบาล การบริหารจัดการน้ำไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ควรสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก เช่น แก้มลิง หรือฝายแกนซอยซีเมนต์ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งในแต่ละพื้นที่”
“รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์” ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อความยั่งยืน ในฐานะอนุกรรมาธิการฯ เชิงโครงสร้างด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดิน เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีองค์ความรู้จำนวนมาก และต้องนำความรู้ดังกล่าวมาตอบโจทย์ความต้องการแต่ละพื้นที่ให้ได้ โดยผลการวิจัยของแผนงานวิจัยเข็มมุ่งในปีแรกเป็นไปตามเป้าหมายใช้น้ำอย่างประหยัดได้ร้อยละ 15 ตามเป้าหมายของแผนงานวิจัยฯ ส่วนในปีที่ 2 หลังพบว่าชาวบ้านเข้าใจเรื่องการใช้น้ำที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนและสร้างผลกระทบที่ดีทั้งในเชิงต่อพื้นที่และเชิงนโยบาย ระยะต่อไป ชาวบ้านต้องมีแหล่งรายได้อื่นเพื่อมีเงินสดหมุนเวียนได้ทุกวัน จึงจะเน้นเรื่องการใช้นวัตกรรมสังคมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้มีรายได้เสริม พร้อมกับการเติมน้ำบาดาลและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้
“เรามีน้ำเป็นโจทย์ร่วม แต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นโจทย์แยกในแต่ละพื้นที่และมีความหลากหลายที่ต้องจัดการ ให้เชื่อมโยงกับเป้าหมายจังหวัดกำแพงเพชรที่ควรมุ่งสู่เมืองท่องเที่ยวที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นเกษตรอินทรีย์ ในลักษณะการทำงานแบบ 3 ประสาน คือ นำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ สนับสนุนเทคโนโลยีจากงานวิจัย และพัฒนาร่วมกับชุมชน เพื่อหาทางออกของปัญหาน้ำ ที่โยงกับ ดิน ปุ๋ย ตลาด ซึ่งจะเป็นแม่แบบขยายผลไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นต่อไปได้”