ทีมนักประดิษฐ์ ม.มหิดล ส่งแอพพลิเคชันวิเคราะห์การเคลื่อนไหวเชิงกีฬา เข้าประกวดรางวัล“ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ปี 2566 ซึ่งจัดโดย วช. เผยจุดเด่นใช้เอไอตรวจจับการวิเคราะห์ลักษณะการวิ่งของผู้ใช้งาน ช่วยปรับท่าวิ่งให้ถูกลักษณะ ช่วยลดอาการบาดเจ็บ
นายปรมัตถ์ จรัสดำรง จากมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดประกวด “ผลงานประดิษฐ์คิดค้น” ขึ้น เพื่อคัดเลือกเข้ารับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2566 ทางทีมนักประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งประกอบด้วยตนเองและ รศ.ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ ได้ส่งผลงานการพัฒนา “แอพพลิเคชันวิเคราะห์การเคลื่อนไหวเชิงกีฬา” เข้าร่วมประกวด โดยแอพพลิเคชันดังกล่าว เป็นระบบ Computer vision (CV) ซึ่งนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ มาช่วยในการตรวจจับและวิเคราะห์ลักษณะการวิ่งของผู้ใช้งาน เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ในด้านของวิทยาศาสตร์การกีฬา การประมวลผลข้อมูลจากสื่อภาพและวิดีโอ ทักษะการเขียนโปรแกรมและการพัฒนาแอพพลิเคชันบนมือถือ
โดยแอพพลิเคชันจะทำการบันทึกการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งาน นำไปสู่การประมวลผลลักษณะการวิ่งของผู้วิ่งเพื่อปรับท่าวิ่งให้ถูกลักษณะ ช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการวิ่ง เหมาะสำหรับการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวทางการกีฬาที่สามารถใช้งานบนโทรศัพท์มือถือได้
หลักการทำงานของแอพพลิเคชันดังกล่าว ผู้วิ่งต้องลงทะเบียน ติดตั้งแอพพลิเคชัน และตั้งกล้องให้เป็นลักษณะตั้งตรง ระบบจะสร้าง Spatial skeleton ขึ้นมาเสมือนเป็นกระดูกของผู้วิ่งแบบดิจิทัล เพื่อจำลองตำแหน่งส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว เมื่อทดสอบการวิ่งในระบบเรียบร้อย จะมีการรายงานผลลักษณะชีวกลศาสตร์ที่ได้จากการวิ่ง โดยวิเคราะห์ใน 3 ส่วน คือ 1. Vertical displacement of the center of mass 2. Trunk Lean และ 3. Tibia angle at a loading response ซึ่งผู้วิ่งและผู้ฝึกสอนสามารถนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์และประมวลผลดังกล่าว ไปช่วยเพิ่มและพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาให้ดียิ่งขึ้น