“เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ปลุกจิตวิญญาณคนลำปางมุ่งสู่เศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม เผยลำปางมีเพลงพื้นเมืองมากที่สุดในประเทศ เตรียมจับมือ “สุกรี เจริญสุข” แห่งดุริยางคศิลป์ มหิดล ทำเพลงพื้นเมืองลำปางเป็นซิมโฟนีออกขายทั่วโลก พร้อมกระตุ้นคนลำปางตั้ง “สถาบันช่างศิลป์ล้านนา – พิพิธภัณฑ์ล้านนา“ ดึงคนมาเที่ยวสร้างรายได้
เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จ.ลำปาง ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมเสวนา เรื่อง “บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดลำปางต่อการผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานหลังโควิด-19” พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายจังหวัดลำปางในมิติการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า จ.ลำปาง เป็นบ้านเกิด เป็นเมืองที่ตนรักและภูมิใจ การพัฒนา จ.ลำปาง ไม่ได้มีแต่เฉพาะด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ท่องเที่ยว ฯลฯ เพียงช่องทางเดียว แต่จะต้องพัฒนาด้านวัฒนธรรมด้วย เหมือนกับประเทศไทยที่มีขาหนึ่งซึ่งจะต้องมีการลงทุนด้านเศรษฐกิจ เช่น อีอีซี โทรคมนาคมสู่ 5 จี การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ให้เป็น 4.0 มีเรื่องของ AI และโรบอท แต่อีกขาจะต้องลงทุนด้านวัฒนธรรมด้วย ในประเทศที่เจริญแล้วใช้วัฒนธรรมในการสร้างชาติสร้างรายได้เข้าประเทศ เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน หรือแม้กระทั่งจีน เมืองใหญ่ทุกเมืองมีพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ ดังนั้น ประเทศไทยก็ต้องเดิน 2 ขา คือขาของเศรษฐกิจและขาของวัฒนธรรม
รมว.อว.กล่าวต่อว่า ลำปางเป็นเมืองเก่าแก่กว่า จ.เชียงใหม่ ถึงกว่า 600 ปี อายุของลำปางมากกว่า 1,300 ปี ขณะที่เชียงใหม่มีอายุประมาณ 700 ปี ลำปางอยู่คู่กับลำพูน มีวัฒนธรรมเก่าแก่มากมาย ยิ่งกว่านั้นตนมีข้อมูลใหม่ว่า จ.ลำปาง มีเพลงพื้นเมืองพื้นถิ่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยตนได้หารือกับ รศ.ดร. สุกรี เจริญสุข ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าจะนำเอาเพลงล้านนา หรือเพลงลาวลำปางมาทำเป็นซิมโฟนีและบันทึกเสียงจำหน่ายไปทั่วโลก นี่คือขาวัฒนธรรมที่เราต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งที่ตนดำเนินการอยู่ นั่นคือการยกย่องครูดีๆให้เป็นศาสตราจารย์ปฏิบัติ หรือศาสตราจารย์ศิลปะ ในฐานะที่สร้างความรู้ให้กับแผ่นดิน นอกจากนี้ สิ่งที่ตนอยากจะเห็นใน จ.ลำปาง คือการเกิดขึ้นของสถาบันช่างศิลป์ล้านนาหรือสล่า ที่เป็นศูนย์กลางช่างศิลป์ของล้านนาที่สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นมาใหม่ ทั้งเรื่องของการสร้างวัด สร้างโบราณสถาน เป็นต้น รวมทั้งอยากจะเห็นพิพิธภัณฑ์ล้านนาที่ จ.ลำปาง ที่สามารถหาเงินได้ เป็นการสร้างเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ล้านนาต้องมีชีวิต และคนต้องอยากมาเที่ยว มาเที่ยวแล้วต้องอยากซื้อของที่ระลึกกลับบ้าน ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดโดยคนลำปาง ไม่ใช่มาจากรัฐบาล ไม่ใช่มาจากรัฐมนตรี คนลำปางจะต้องมีความตื่นตัว รักหวงแหนใน จ.ลำปาง ลำปางจึงจะมีอนาคต ต้องสร้างลำปางนิยมขึ้นมา
“ลำปางกำเนิดมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเป็นอิสระในยุคของพญามังราย 200 ปี ครั้งที่ 2 พ่ายแพ้ถูกพม่าเอาเป็นเมืองประเทศราชพร้อมกับอยุธยา 200 ปี และ ครั้งที่ 3 พระเจ้าทิพย์ช้างกล้าก่อกบฏต่อพม่า ทำให้ลำปางเป็นเอกราช มีอิสรภาพ และทำให้ภาคเหนืออยู่คู่กับประเทศสยาม เพราะฉะนั้นเราจะต้องสร้างจิตวิญญาณแห่งทิพย์ช้างขึ้นมาให้ได้ เพื่อให้ลำปางเจริญรุ่งเรืองสืบไป” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว