วช.หนุนตั้งศูนย์วิจัยชุมชนทั่วประเทศ ม.ราชภัฎสกลนครโชว์ศูนย์วิจัยชุมชนผ้าย้อมครามสุขภาพ บ้านดอนกอย

News Update

วช.หนุนตั้งศูนย์วิจัยชุมชนทั่วประเทศ เน้นถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม โชว์ศูนย์วิจัยชุมชนผ้าย้อมครามสุขภาพ บ้านดอนกอย  จ.สกลนคร ผลงานทีม ม.ราชภัฎสกลนคร ร่วมกับเครือข่ายวิจัยภาคอีสานต่อยอดองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านสู่การยกระดับผ้าย้อมครามเชิงสุขภาพ

           ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชน” นับเป็นงานที่สำคัญงานหนึ่งของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ได้ร่วมกับเครือข่ายวิจัยภูมิภาคทั้ง 4 ภูมิภาคในการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นตามนโยบายรัฐบาลเมื่อปี 2561  วช.ได้มีการเชื่อมโยงบูรณาการความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชน ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงและนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์หรือประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ  โดยจะมีการพัฒนาทักษะและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับคนในชุมชน   อย่างเช่น  “ศูนย์วิจัยชุมชนผ้าย้อมครามสุขภาพ บ้านดอนกอย จังหวัดสกลนคร ” ที่มีผศ.ดร.พรกมล  สาฆ้อง จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร เป็นหัวหน้าทีมวิจัยฯ ที่ได้เข้าไปศึกษาความต้องการ รวบรวมองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหา และสนับสนุนงานในด้านต่างๆ แก่ศูนย์วิจัย ฯ  

            ผศ.ดร.พรกมล  สาฆ้องกล่าวว่า ทีมวิจัยได้ร่วมกับเครือข่ายวิจัยภูมิภาค  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการสนับสนุน “ศูนย์วิจัยชุมชนผ้าย้อมครามสุขภาพ บ้านดอนกอย จังหวัดสกลนคร” ในเรื่องต่าง ๆ  เช่น การนำองค์ความรู้ผ้าย้อมครามมาถ่ายทอดขยายผลสู่กลุ่มวิสาหกิจทอผ้าย้อมคราม บ้านดอนกอย ซึ่งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ชุมชน ฯ โดยเน้นขยายผลและต่อยอดจากองค์ความรู้ที่คนในชุมชน หรือปราชญ์ชาวบ้านดำเนินการอยู่แล้ว โดยศูนย์วิจัยชุมชนจะทำงานร่วมกับพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่อย่างแท้จริง

              สำหรับผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ถือเป็นการสืบสานงานหัตถกรรมจากบรรพบุรุษ “เผ่าภูไท” จากการทอผ้าใช้เองในครัวเรือนมาสู่งานเชิงพาณิชย์ ซึ่งเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของกลุ่มแม่บ้านที่เริ่มก่อตั้งในวันที่ 3 กันยายน 2546 จากสมาชิก 9 คน ในปัจจุบันมีสมาชิก 70 คน โดยผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามดอนกอยเป็นผ้าที่สีสวย มีความวาว มีความนุ่ม และกลิ่นหอมของคราม เป็นเอกลักษณ์ที่ลูกค้าเห็นและสามารถจำแนกชิ้นงานได้ชัดเจน

           ผศ.ดร.พรกมล กล่าวว่า ในโครงการดังกล่าว ทีมวิจัยฯ  ได้เข้าไปช่วยยกระดับมูลค่าของผ้าย้อมครามด้วยการนำเสนอข้อมูลด้านสุขภาพของผ้าย้อมคราม  ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและผ่านการทดสอบแล้ว โดยพบว่า ผ้าย้อมครามคุณสมบัติในการยับยั้งแบคทีเรียบริเวณใต้วงแขนของเสื้อผ้า ยับยั้งกลิ่นตัว ป้องกันแสงยูวี และยังลดรอยฟกช้ำ  เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ จนกระทั่งได้รับการคัดสรรเป็นสินค้า 6 ดาวของจังหวัดสกลนคร

กิจกรรมการนำเสนอผลงานครามจากการวิจัย

           ปัจจุบันสินค้าครามของจังหวัดสกลนครมี 2 รูปแบบคือ รูปแบบผ้าย้อมคราม และรูปแบบเนื้อครามสำหรับใช้เตรียมสีย้อม  โดยเนื้อครามมีผลต่อคุณภาพการย้อมครามทำให้สีสวย และติดทนบนเส้นใยผ้า เนื้อครามที่มีคุณภาพจะต้องมีปริมาณอินดิโกบลู (สารสี) ในปริมาณสูง

           “จากงานวิจัยพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณอินดิโกบลูในต้นครามมาจากสายพันธุ์ การปลูก และอายุในการเก็บเกี่ยว และเมื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพของต้นครามที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวครามพบว่า เมื่อระยะต้นครามเริ่มมีฝักสีน้ำตาลจะให้ปริมาณอินดิโกบลูมากที่สุด จึงอยากร่วมกับชุมชนที่จะพัฒนากรรมวิธีการผลิตเนื้อครามให้มีปริมาณอินดิโกบลูสูงขึ้น เนื่องจากเป็นวัตถุดิบต้นน้ำในการย้อมผ้าคราม นอกจากนี้ยังได้พัฒนาวิธีการวิเคราะห์อินดิโกบลูในเนื้อครามเพื่อใช้ในการจำแนกคุณภาพ  และอาจใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาของเนื้อครามได้ในอนาคต”

การทดสอบการยับยั้งกลิ่นตัวของผ้าย้อมคราม

           ทีมวิจัยยังพบอีกว่า ชนิดและอายุของพืชที่นำมาทำน้ำด่างมีผลต่อคุณภาพของน้ำย้อมคราม ซึ่งมีผลต่อความสวยงามของชิ้นงานที่ย้อมและความคงทนของการติดสีครามบนเส้นใย และที่สำคัญจะต้องตระหนักถึงอายุของต้นไม้ที่ตัดมาทำน้ำด่างด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เนื่องจากต้นไม้ที่เหมาะสมนำมาทำน้ำด่างต้องมีอายุ 3 ปีขึ้นไป

อบรมการเตรียมน้ำย้อมคราม

           ผศ.ดร.พรกมล กล่าวอีกว่าเนื่องจากมีงานวิจัยที่เข้ามาศึกษาการย้อมผ้าครามในปัจจุบันมีจำนวน แต่ยังขาดในส่วนของการวิเคราะห์คุณภาพทั้งระบบของการย้อมผ้าคราม  ทีมวิจัยจึงมุ่งเน้นการพัฒนาวิธีการตรวจสอบคุณภาพเนื้อครามและผ้าครามเพื่อสร้างมาตรฐานของคุณภาพภาพครามเพิ่มมากยิ่งขึ้น เช่น  การพัฒนาวิธีการวิเคราะห์การตรวจสอบหาปริมาณอินดิโกบลูในเนื้อครามในระดับโมเลกุล  พัฒนาวิธีการตรวจสอบผ้าย้อมครามธรรมชาติและผ้าย้อมครามสังเคราะห์ การตรวจสอบโลหะหนักบนผ้าย้อมคราม

ภายในศูนย์วิจัยชุมชนผ้าย้อมครามสุขภาพ บ้านดอนกอย

            นอกจากการพัฒนาเรื่องการตรวจสอบคุณภาพผ้าครามแล้ว   ทางทีมวิจัยยังได้พัฒนาการใช้ประโยชน์จากต้นครามนอกเหนือจากการใช้เพื่อย้อมผ้าครามเพียงอย่างเดียว  โดยปัจจุบันทางทีมวิจัยกำลังพัฒนากระบวนการสกัดสารจากต้นครามด้วยกรรมวิธีที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม  เพื่อนำสารสกัดไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่อไป