พน.เดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

New Energy

 วันนี้ (19 ตุลาคม 2565) กระทรวงพลังงาน (พน.) จัดการประชุมคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านพลังงาน เศรษฐกิจอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุม

                การประชุมในวันนี้ มีผลมาจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบ ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHGs Emission) ในปี พ.ศ. 2608 ตามที่ประเทศไทยโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเป้าหมายไปเมื่อการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26)  ณ กรุงกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร รวมทั้งเป็นการยกระดับการดำเนินงานเพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก โดยการนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน มาประยุกต์ใช้ในภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย

                นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ ประกอบด้วยผู้แทนต่าง ๆ ทั้งจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในองค์รวมของประเทศไทยได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เป็นคณะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ตลอดจนมีความเข้าใจในกระบวนการทางด้านธรณีวิทยาปิโตรเลียม และวิศวกรรมปิโตรเลียม โดยเฉพาะการบริหารจัดการแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมใต้ผิวดิน ซึ่งสามารถนำความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการวางแผน การศึกษา วิจัย และการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากทั้งภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม มากักเก็บในชั้นหินทางธรณีวิทยาใต้ผิวดิน

                ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้พยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการดักจับการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) โดยรวบรวมโครงการการดำเนินงานในประเทศไทยที่ผ่านมา พร้อมกับแผนงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการด้านการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ และเชิญผู้เชี่ยวชาญด้าน CCUS จากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ อาทิ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัดJapan Oil,Gas and Metals National Corporation (JOGMEC), Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) ประเทศญี่ปุ่น , สหราชอาณาจักร และอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และแนวทางการพัฒนา พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและผลักดันการดำเนินงานและพัฒนา CCUS ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

                 “การประชุมคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อร่วมกันพิจารณา เสนอแนะ และให้ข้อคิดเห็นต่อแผนการดำเนินการด้านเทคโนโลยี CCUS ในภาพรวมของประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นโอกาสของประเทศไทยในการร่วมสนับสนุนและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี CCUS เพื่อบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งในระยะต่อไป หน่วยงานต่าง ๆ จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ประเทศก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สอดรับนโยบายรัฐบาล อีกทั้งยังจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

                  สำหรับการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) นั้น คือการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ซึ่งมีการดำเนินงานในสองแนวทาง คือ 1. การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา อาทิ การปลูกป่าเพื่อเพิ่มจำนวนต้นไม้ และ 2. การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ คือ การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่มากขึ้น และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการยกระดับในทุกภาคส่วน ทั้งโรงไฟฟ้า ภาคขนส่ง ภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม