ผู้แทน อว. และ GISTDA เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 4 แห่งสหประชาชาติ
คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific, ESCAP หรือ เอสแคป) และรัฐบาลสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 4 (the Fourth Ministerial Conference on Space Applications for Sustainable Development in Asia and the Pacific-การประชุมฯ สมัยที่ 4) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
การประชุมฯ มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการให้ประเทศสมาชิกเอสแคป (จำนวน 53 ประเทศ) และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้มาหารือ/สร้าง/ขยาย ความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นการติดตาม ประเมิน และทบทวนระยะที่ 1 (ค.ศ. 2018-2022) ของการอนุวัติแผนปฏิบัติการว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Plan of Action on Space Applications for Sustainable Development 2018-2030 หรือ แผนปฏิบัติการฯ) ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติในการประชุมฯ สมัยที่ 3 เมื่อปี 2561 ณ กรุงเทพมหานคร
สำหรับผู้แทนประเทศไทย นำโดยรองศาสตราจารย์พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการ GISTDA ได้เข้าร่วมการประชุมฯ สมัยที่ 4 และร่วมรับรองปฏิญญาจาการ์ตาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ปฏิญญาจาการ์ตาฯ) ซึ่งเป็นผลลัพธ์สำคัญของการประชุมฯ สมัยที่ 4 โดยปฏิญญาจาการ์ตาฯ มีสาระสำคัญคือการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิกเอสแคปในการต่อยอดขยายความร่วมมือด้านอวกาศเพื่อเร่งการอนุวัติแผนปฏิบัติการฯ ในระยะที่ 2 (ค.ศ. 2022-2026) ให้เป็นผลสำเร็จรูปธรรมต่อไป
นอกจากนี้ ผู้แทนประเทศไทยยังได้กล่าวถ้อยแถลง (statement) ในวาระต่างๆ ของการประชุมฯ สมัยที่ 4 เพื่อสนับสนุนปฏิญญาจาการ์ตาฯ รวมถึงข้อริเริ่มต่างๆ ที่จะช่วยผลักดันการเร่งการอนุวัติแผนปฏิบัติการฯ ในระยะที่ 2 (ค.ศ. 2022-2026) เช่น โครงการปฏิบัติการรวมกลุ่มดาวเทียมสำรวจโลกเสมือนจริงสำหรับใช้ในการเตรียมความพร้อมรับมือก่อนการเกิดภัยพิบัติ/การเพิ่มการเข้าไปมีส่วนร่วมในภาคส่วนอวกาศของเยาวชน/การขยายความร่วมมือและยกระดับการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลร่วมกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ/นวัตกรรมแพลตฟอร์ม “Sphere” สำหรับส่งเสริมการใช้งานและพัฒนาการประยุกต์ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศแบบเปิดที่ GISTDA กำลังพัฒนา เป็นต้น
อนึ่ง การเข้าร่วมการประชุมฯ สมัยที่ 4 นี้ ถือเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยในการขยายต่อยอดบทบาทที่แข็งขันของการเป็นผู้นำในการร่างและผลักดันแผนปฏิบัติการฯ ในระดับภูมิภาค รวมถึงเป็นการยกระดับบทบาทและสถานะของไทยในเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศรวมถึงนวัตกรรมอื่นๆ ในการช่วยเร่งบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับภูมิภาค/นานาชาติ อีกด้วย