ดีอีเอส ร่วมกับ กสทช.ชี้แจงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ถึงประกาศแนวทางแจ้งเตือน ระงับการเผยแพร่ข้อมูลผิดกฎหมาย ภายใน 24 ชม.
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2565 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เชิญผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ และผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ จำนวน 35 ราย รับทราบ และชี้แจงถึงประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2565 ซึ่งประกาศดังกล่าวได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 ธันวาคม 2565 เพื่อให้ผู้ให้บริการ/สื่อสังคมออนไลน์ เตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตาม
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ประกาศฯ ดังกล่าว เป็นการปรับปรุงประกาศฉบับเดิม เมื่อปี 2560 เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถคุ้มครองประชาชนมากยิ่งขึ้น และสร้างหลักประกันให้กับผู้ให้บริการ/สื่อสังคมออนไลน์ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย หากได้ปฏิบัติตามข้อร้องเรียนของประชาชนทั่วไป หรือผู้ใช้บริการ หรือตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศอย่างถูกต้องครบถ้วน จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิด (Safe Harbor) ของผู้ให้บริการ/สื่อสังคมออนไลน์ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ
สำหรับขั้นตอนการปฏิบัติของผู้ให้บริการ/สื่อสังคมออนไลน์ คือ ต้องมีช่องทางเพื่อรับแจ้งเนื้อหาที่เป็นความผิด ทั้งข้อมูลเท็จ บิดเบือน ปลอมแปลง กระทบต่อความมั่นคง หรือลามกอนาจาร จากประชาชนทั่วไป หรือผู้ใช้บริการ โดยจัดทำแบบฟอร์มข้อเรื่องร้องเรียน (Complaint Form) และเมื่อได้รับแจ้งแล้ว ให้ระงับหรือนำเนื้อหาที่ผิดกฎหมายออกจากระบบ หรือเมื่อได้รับคำสั่งให้ระงับหรือนำข้อมูลออกจากระบบจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระงับหรือนำข้อมูลฯ ออกจากระบบของตน ภายในระยะเวลาที่กำหนด ตามลักษณะเนื้อหาของข้อมูล เช่น เนื้อหาที่เป็นเท็จ บิดเบือน ปลอม ตามมาตรา 14 (1) ให้ระงับ หรือนำข้อมูลออก ทันที หรือ ไม่เกิน 7 วัน เนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคง ตามมาตรา 14 (2) และ (3) ให้ระงับ นำข้อมูลออกทันที แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ส่วนเนื้อหาที่มีลักษณะลามก ตามมาตรา 14 (4) ให้ระงับ นำข้อมูลออกทันที แต่ไม่เกิน 3 วัน แต่หากเป็นกรณีภาพลามกอนาจารเด็ก ต้องระงับหรือนำข้อมูลออกทันที แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปหรือผู้ใช้บริการที่เป็นผู้เสียหาย ต้องมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือต้องมีการลงบันทึกประจำวันไว้กับตำรวจ ก่อนที่จะให้กระทรวง ฯ ดำเนินการต่อ โดยแจ้งไปยังผู้ให้บริการ/สื่อสังคมออนไลน์ให้ปิดกั้น ซึ่งผู้ร้องเรียนหรือผู้เสียหาย สงสัยสามารถขอคำแนะนำ ได้ที่ 1212
“ประกาศฉบับนี้ ออกมาเพื่อเร่งระงับข้อมูลผิดกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบหรือไม่ให้สร้างความเสียหายต่อประชาชนมากจนเกินไป ซึ่งเดิมกฎหมายคอมพิวเตอร์เวลาปิดเว็บหรือปิดกั้นข้อมูล หลัก ๆ จะใช้อำนาจตามมาตรา 20 จะต้องไปขอคำสั่งศาล ซึ่งต้องใช้เวลา พ.ร.บ.นี้จึงให้อำนาจ ตามมาตรา 15 ถ้าเป็นเรื่องเร่งด่วน อยากให้ปิด ก็ให้กระทรวงประสานไปที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือให้ปิดที่ระบบ หรือนำออก เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนซึ่งเป็นภาพรวมของประเทศไม่ใช่ตัวบุคคล ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป เช่น เรื่องของการฉ้อโกง การทำให้บ้านเมืองวุ่นวายสับสน เกิดความตื่นตระหนก และเรื่องของลามกอนาจาร ซึ่งเสื่อมเสียศีลธรรมอันดี ต้องปิดกั้นทันที โดยเฉพาะภาพลามกอนาจารเด็ก อย่างไรก็ตามขอเตือนว่า อย่าใช้ช่องทางนี้ ในการกลั่นแกล้งผู้อื่น หากดำเนินการโดยเจตนาไม่สุจริต หรือเป็นเท็จ ผู้แจ้งอาจต้องรับผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญาได้” นายชัยวุฒิ กล่าว
นายชัยวุฒิกล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมาย หากมีการฟ้องร้อง ผู้ให้บริการฯ จะไม่ผิด โดยเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ แต่คนสั่งคือกระทรวงฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ ซึ่งจะใช้เฉพาะกรณีเร่งด่วน และจำเป็นจริง ๆ ซึ่งกรณีดังกล่าวจะมีจำนวนไม่มาก