วช. ร่วมมือ กทม. และเครือข่ายนักวิจัย ขับเคลื่อนผลงานวิจัย สู่แผนปฏิบัติการฯ PM2.5 ในพื้นที่ กทม.
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายนักวิจัย ขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “เตรียมพร้อม รับมือ PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม”
นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครโดยสำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับ วช. แก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา ผนึกกำลังร่วมเสนอความเห็นทางวิชาการและนำเสนอผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมในส่วนที่สามารถสนับสนุนการดำเนินการเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ (ช่วงวิกฤต) และใช้สำหรับเป็นแผนเผชิญเหตุ รวมถึงมาตรการตอบโต้สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 หากปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยง
ทั้งนี้ได้มีการร่วมกันระดมความคิดเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพมหานครครอบคลุมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งกำเนิด การกำจัดการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และร่วมกันเสนอแนวทางการป้องกันและการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า แผนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นแผนงานที่สำคัญของประเทศ ซึ่ง วช. มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเชิงรุก เพื่อนำสู่การกำหนดแผนงานวิจัยตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์และความต้องการของประเทศ โดยใช้กลไกความร่วมมือทางวิชาการของทุกภาคส่วน ทั้งเครือข่ายนักวิจัย สถาบันวิจัย และหน่วยงานต่าง ๆ กิจกรรมเสวนาวิชาการในวันนี้ วช. พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและเครือข่ายนักวิจัย ได้ร่วมกันเสนอแนวทางการป้องกันและการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมทั้งคำแนะนำเพิ่มเติมต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2566 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ กทม. อีกทั้งเครือข่ายนักวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ได้นำเสนอผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในส่วนที่สามารถสนับสนุนการดำเนินการของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่ง วช. หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ของ กทม. และของประเทศ เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดี
สำหรับการเสวนาวิชาการ ฯ มีเครือข่ายนักวิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิด้านมลพิษทางอากาศ ร่วมการเสวนา ประกอบด้วย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รศ. ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ. ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ รศ. ดร.สาวิตรี การีเวทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รศ. ดร.สราวุธ เทพานนท์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ. ดร.นเรศ เชื้อสุวรรณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รศ.ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย รศ. ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ รศ. ดร.ภัคพงศ์ พจนารถ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
เครือข่ายนักวิจัยได้มีการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยว่า ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กทม. รวมถึงเขตปริมณฑล มีแหล่งกำเนิดเปลี่ยนไปตามพื้นที่และฤดูกาล โดยแหล่งกำเนิดที่สำคัญหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงชีวมวล ไอเสียจากยานพาหนะ ฝุ่นดิน และฝุ่นละอองทุติยภูมิเป็นหลัก ร่วมกับปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาตามฤดูกาล
ในการบริหารจัดการพื้นที่ในช่วงวิกฤตจึงควรให้ความสำคัญต่อการลดกิจกรรมการเผาไหม้ชีวมวลในที่โล่ง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดสำหรับรถยนต์และเรือที่มีควันดำ และควรการทำงานจากระยะไกล รวมถึงการร่วมกันปลูกต้นไม้ไม่ผลัดใบที่พบว่ามีประสิทธิภาพสูงในการช่วยเป็นป้อมปราการสีเขียวช่วยกำบังฝุ่นเพื่อลดผลกระทบต่อต่อสุขภาพ ซึ่งทางกรุงเทพมหานครจะนำเอาข้อค้นพบเหล่านี้ ไปเป็นฐานในการออกแบบมาตรการจัดการปัญหาPM2.5 ในกรุงเทพ ฯ ตามรูปแบบการเกิดฝุ่น PM2.5