ดีอีเอส ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารแห่ง สปป.ลาว ด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม และไอที เพื่อร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งสองประเทศ
วันนี้ ( 7 พฤศจิกายน 2565) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding หรือ MoU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล กับ ศ.ดร. บ่อเวียงคำ วงดาลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อส่งเสริมการค้า การแลกเปลี่ยนด้านเทคนิครวมถึงการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ส่งเสริมการพัฒนาด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัลบนพื้นฐานของความเท่าเทียมต่างตอบแทนและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือในระยะยาวอย่างยั่งยืน ภายใต้กฎหมายและระเบียบของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 8 ปี แบ่งเป็นบันทึกความเข้าใจจะมีผลบังคับใช้ในวันที่มีการลงนาม และจะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยจะมีการขยายเวลาอัตโนมัติออกไปอีก 3 ปี
“ ที่ผ่านมาราชอาณาจักรไทยกับสปป.ลาว มีความสัมพันธ์อันดีและมีร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีไอซีที มาโดยตลอด การลงนามเอ็มโอยูในวันนี้ จึงเป็นการต่อความร่วมมือออกไปอีก เพื่อให้มีการทำงานร่วมกันในการพัฒนาการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี แลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งสองประเทศให้ความก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งผมเชี่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งดี ๆ อีกหลายอย่างที่เราจะทำร่วมกันต่อไปในอนาคต”
ศ.ดร. บ่อเวียงคำ วงดาลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือของทั้งสองประเทศในครั้งนี้ อยู่ในขอบเขตของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โทรคมนาคม ไปรษณีย์และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่รัฐบาลลาว-ไทย ได้ตกลงร่วมมือกันในการพัฒนาสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งสองประเทศ ซึ่งมีความร่วมมือกันมานานแล้ว และจะเป็นส่วนช่วยในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่จะเป็นประโยชน์ให้กับประชาชนลาวและไทยต่อไปในอนาคต
สำหรับกรอบความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย จะมีการร่วมกันกำหนดแนวปฏิบัติในการกำกับดูแล และนโยบายด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการ สื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล รัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ ทักษะด้านดิจิทัล ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีที โทรคมนาคม และดิจิทัล เช่นฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ดิจิทัล คอนเทนต์ (Digital content) และการบริการที่เกี่ยวข้องโครงสร้างพื้นฐานด้านบรอดแบนด์ และการพัฒนาการให้บริการ นวัตกรรมด้านไอซีทีและเทคโนโลยีดิจิทัล โอกาสด้านดิจิทัล และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e – Commerce) การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมในด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงความร่วมมือและความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่วิสาหกิจเพื่อสร้างความร่วมมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัลสาขาอื่น ๆ
นอกจากนี้ จะมีแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จ ความก้าวหน้า และแผนการพัฒนาในด้าน ดังกล่าวร่วมกันของทั้งสองประเทศ มีการอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจสตาร์ทอัพในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล และมีความร่วมมือในรูปแบบอื่น ๆ ตามที่ตกลงร่วมกันอีกด้วย