วช.หนุนสทน.และ ม.นเรศวร ศึกษาการฉายรังสีส้มโอเพื่อการส่งออกสหรัฐอเมริกา เผยผลสำเร็จรอเจ้าหน้าที่สหรัฐ-ไทยรับรองร่วมกันอีกครั้งเร็ว ๆนี้ พร้อมเดินสายโชว์ส้มโอฉายรังสีให้ต่างชาติรู้จักมากขึ้น
วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2565) ภายในงานประชุมระหว่างประเทศ International Meeting on Radiation Processing ครั้งที่ 20 (IMRP20) ที่โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. และมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดกิจกรรมแนะนำและชิมส้มโอฉายรังสี ซึ่ง วช.ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับ สทน. และมหาวิทยาลัยนเรศวร ในโครงการ “การศึกษาผลของการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา” เพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมของโครงการวิจัยและช่วยเผยแพร่กิจกรรมฉายรังสีผลไม้เพื่อการส่งออกของประเทศไทยให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ทราบอย่างทั่วถึง
สำหรับงาน IMRP20 มีหัวข้อหลักในการประชุมเกี่ยวกับการฉายรังสีเพื่อสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Irradiation Forum) โดยงานดังกล่าวเป็นงานประชุมระดับนานาชาติ จัดเป็นประจำทุก 2-3 ปี เพื่อให้นักวิชาการและผู้ประกอบการในแวดวงเทคโนโลยีการฉายรังสีจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้มาแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิชาการและหารือในธุรกิจการฉายรังสีรวมไปถึงการสร้างเครือข่ายร่วมกัน ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมงาน 350 คน จาก 41 ประเทศทั่วโลก
รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2550 สหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สด (fresh fruit) ของไทย 7 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ และสับปะรด โดยจะต้องได้รับการฉายรังสีก่อนส่งออกไปยังสหรัฐฯ นับเป็นการเปิดตลาดผลไม้ไทยที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศชาติ ต่อมาในปี 2562 ทีมวิจัย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง วช. สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) BEDO มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้ประสบผลสำเร็จในการวิจัยเรื่องคุณภาพของมะม่วงฉายรังสี จนกระทั่งสามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่ได้คุณภาพมาตรฐานสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และ ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาได้ออกกฎระเบียบเพิ่มเติมให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 คณะผู้วิจัยจึงได้ดำเนินการทำ dose mapping เพื่อเตรียมการส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกระจายของรังสีในบรรจุภัณฑ์ส้มโอและปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพหลังการฉายรังสีแกมมา เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของทางสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ผลการทำ dose mapping ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างรอให้เจ้าหน้าที่หน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา และเจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตรร่วมกันรับรองผลอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ จากนั้นผู้ประกอบการไทยจะสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ทันที
อย่างไรก็ดีคณะผู้วิจัยมีโครงการจะนำส้มโอฉายรังสีไปจัดแสดงในงาน Natural Products Expo West 2023 ณ เมืองอนาไฮม์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 7-11 มีนาคม พ.ศ. 2566 ที่จะถึงนี้ด้วย ซึ่งการจัดกิจกรรมแนะนำและชิมส้มโอภายในงานประชุมระหว่างประเทศ International Meeting on Radiation Processing ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่ให้ต่างชาติได้รู้จักส้มโอผลสดของไทยให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถต่อยอดในทางธุรกิจต่อไป
ด้านดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การฉายรังสีโดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของแต่ละประเทศ โดยจะกำหนดตั้งแต่ขนาดบรรจุภัณฑ์ โดยสหรัฐอเมริกากำหนด 9-10 ลูกต่อกล่อง ซึ่งขนาดกล่องจะขึ้นอยู่กับผลส้มโอ เมื่อได้กล่องตามที่อเมริกาต้องการแล้ว จึงนำเข้าสู่กระบวนการฉายรังสี ซึ่ง สทน.มีทั้งการฉายรังสีแกมมา electron beam และรังสีเอ็กซเรย์ ปัจจุบันสหรัฐอเมริกากำหนดให้ใช้รังสีแกมม่า 400 เกรย์ในการฆ่าเชื้อดังนั้นเมื่อเตรียมกล่องใส่ส้มโอใส่ในตู้คอนเทนเนอร์ และนำไปผ่านการฉายรังสีแกมมาตามที่กำหนด เมื่อเสร็จกระบวนการฉายรังสี จะต้องนำเข้ารถห้องเย็นพร้อมส่งออกทันที โดยระหว่างการขนส่งห้ามเปิดเด็ดขาด ถ้าเปิดจะถูกตีกลับทั้งหมด
สำหรับ อาหาร ผลไม้ทุกชนิด ที่ผ่านการฉายรังสี จะต้องติดฉลากที่เป็นสัญลักษณ์สากลที่เรียกว่าRadura ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับดอกไม้สีเขียวอ่อน ติดให้ผู้บริโภครู้ว่าผ่านการฉายรังสีฆ่าเชื้อมาแล้ว