GISTDA จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับ 7 พันธมิตร นำเสนอนวัตกรรมภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ซึ่งจะเป็นพื้นที่นำร่องนำ AIP มาร่วมวิเคราะห์และบริหารจัดการน้ำรอบด้านอย่างยั่งยืนและมีแผนที่จะขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆต่อไปในอนาคต
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาแนวคิด วิธีการในการวิเคราะห์และออกแบบข้อมูลภายใต้นวัตกรรมภูมิสารสนเทศในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Actionable Intelligence Policy for Eastern Economic Corridor) หรือ AIP EEC เพื่อสนับสนุนการสร้างนโยบายสำหรับการบริหารจัดการน้ำอย่างรอบด้าน ซึ่งถือเป็นการพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศอัจฉริยะจากโครงการ THEOS-2 ณ GISTDA ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
นางสาวพิมพ์นภัส เกิดผล โฆษก GISTDA เปิดเผยว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจาก 7 หน่วยงานที่มีส่วนสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC เข้าร่วมได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.), สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) มูลนิธิเสนาะ อูนากูล สำนักงานชลประทานที่ 9 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ทั้งนี้ทีมงาน GISTDA นำโดย ดร.พรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ THEOS-2 พร้อมด้วย ดร.ดิชพงษ์ ภูมิเกียรติศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบนวัตกรรมนโยบายเชิงพื้นที่ และ ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท Airbus Defense and Space ได้นำเสนอการออกแบบ AIP EEC Water Stress ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้นวัตกรรมภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC โดยที่ AIP สามารถคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตเมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ใน EEC อาทิ คาดการณ์การขาดแคลนน้ำในพื้นที่ใดบ้าง หรือสามารถทดสอบนโยบายที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เป็นต้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้ AIP EEC จะสามารถนำมากำหนดเป็นแผนกลยุทธ์ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ได้หลากหลาย เหมาะสำหรับการนำไปใช้วางแผน ออกแบบนโยบายสำหรับการบริหารจัดการ และสามารถนำมาเปรียบเทียบผลลัพธ์จากแผนงานต่างๆ เพื่อเลือกแผนที่เหมาะสมที่สุดได้ ซึ่งไม่เพียงแต่คำนึงถึงปัจจัยด้านน้ำเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงมิติด้านผลผลิตทางการเกษตร ด้านระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อม และด้านความเสี่ยงภัยพิบัติน้ำท่วม อีกด้วย
นางสาวพิมพ์นภัส กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้รับฟังข้อคิดเห็นและแนวคิดต่างๆ รวมถึงข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มากมายหลังจากนี้จะนำไปปรับปรุงและพัฒนา AIP ให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน และสามารถนำไปสู่การใช้งานได้จริงร่วมกันต่อไป ซึ่งพื้นที่ EEC จะเป็นพื้นที่นำร่องที่จะนำ AIP มาร่วมวิเคราะห์และบริหารจัดการน้ำรอบด้านอย่างยั่งยืนและมีแผนที่จะขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆต่อไปในอนาคตให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยต่อไป