GPSC เผยผลประกอบการไตรมาส 3/65 รับรู้รายได้เพิ่ม 22% เมื่อเทียบไตรมาส 2/2565 จากปัจจัยบวกค่า Ft และปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มขึ้น ประกอบกับรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามกำไรลดลง 52% จากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ผลงาน Synergy เป็นไปตามแผน พร้อมเดินหน้าพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2060
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2565 ของบริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 33,866 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบไตรมาส 2/2565 (QoQ) ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการปรับขึ้นของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ช่วงเดือน ก.ย.จาก 24.77 สตางค์ต่อหน่วยมาสู่ระดับ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และปริมาณการขายไอน้ำให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงบริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น
สำหรับกำไรสุทธิ ลดลง 52% จากปัจจัยของราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากการขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง แม้ว่า Ft จะมีการปรับขึ้นในเดือน ก.ย. ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำรวมของบริษัทฯ ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ในส่วนของแผนงาน Synergy มีการรับรู้มูลค่าจากการควบรวบกิจการสุทธิ หลังภาษีจำนวน 595 ล้านบาท เพิ่มเติมในไตรมาสนี้ ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือทุกฝ่ายเพื่อบริหารจัดการการผลิต และใช้โครงข่ายไอน้ำร่วมกันที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สามารถขยายฐานลูกค้า และลดต้นทุนในส่วนการบริหารเชิงพาณิชย์ การบริหารจัดการหุ้นกู้ ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้
ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี แม้จะรับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ และราคาค่าเชื้อเพลิงที่ยังอยู่ในระดับสูงซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาไฟฟ้า แต่ด้วยปัจจัยของการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้น
บริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต้นทุนเชื้อเพลิงพลังงาน และสอดรับกับทิศทางการเติบโตอย่างยั่งยืนและการส่งเสริมของภาครัฐ โดยมุ่งเน้นการจัดหาแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น โดย GPSC จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ภายในปี 2030 และเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก นำเทคโนโลยีกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ (CO₂) และเทคโนโลยีการนำก๊าซไฮโดรเจนเข้ามาเป็นส่วนผสมในเชื้อเพลิง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ ลดการเกิดคาร์บอนฯ (CCUS & Hydrogen Technology) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ GPSC สู่องค์กรความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2060 เพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมก้าวสู่การเป็นบริษัทฯ ชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้านนวัตกรรมพลังงานได้อย่างยั่งยืน