สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทรงเปิดกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่ EECi

News Update

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก   เพื่อการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

               วันนี้(  16 พฤศจิกายน 2565) เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) Headquarters ณ วังจันทร์วัลเลย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร พนักงาน และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเฝ้า ฯ รับเสด็จ

                ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กราบบังคมทูลถวายรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation, EECi)  ว่า สวทช. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนา EECi เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากห้องปฏิบัติการไปสู่การใช้ประโยชน์ใน 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่  1. เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง  2. เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ  3. แบตเตอรี่และการขนส่งสมัยใหม่ 4.ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 5.การบินและอวกาศ และ 6. เครื่องมือแพทย์  ทั้งนี้ พื้นที่ EECi ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ที่จะช่วยยกระดับมูลค่าภาคเกษตร สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทย และรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ

                จากนั้นทรงประกอบพิธีกดแผ่นป้ายเปิดกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก บริเวณลานสัญลักษณ์แห่งการขยายผลนวัตกรรม หรือ ที่เรียกว่า Innovation Amplifier ซึ่งเป็นการนำบางส่วนของตราสัญลักษณ์เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  มาใช้เป็นภาพการสื่อสารหลัก (Key Visual) เพื่อสร้างภาพจำและสื่อสารแนวคิดให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “ระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาคมอย่างยั่งยืน”

               สัญลักษณ์แห่งการขยายผลนวัตกรรม จำลองปรากฎการณ์กระเพื่อมของน้ำเป็นวงระลอกคลื่น เปรียบได้กับการสร้างผลกระทบขยายออกไปในวงกว้างต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ซึ่งแต่ละวงของสัญลักษณ์ ยังจำลองแถบโมเบียส (Möbius strip) เพื่อสื่อถึงการพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด และลูกกลมที่เชื่อมต่อระหว่างวงของสัญลักษณ์ฯ สื่อถึงการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาคมอย่างยั่งยืน

               จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความคืบหน้าการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ณ บริเวณโถงพลาซ่า ประกอบด้วย นิทรรศการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและพันธมิตรสำคัญ โดย สวทช. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Bio Base Europe Pilot Plant VZW กรมวิทยาศาสตร์บริการ และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)

               จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคาร D ชมความคืบหน้าของศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center, SMC) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของเมืองนวัตกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และระบบอัจฉริยะ (EECi ARIPOLIS) มีภารกิจหลักในการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไทยก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 โดยส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม สามารถนําเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงาน มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ผู้พัฒนาระบบ นวัตกร นักวิจัยตลอดจนนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งในรูปแบบการสาธิต การเรียนรู้และการทดลองปฏิบัติจริง รวมไปถึงกิจกรรมวิจัยเพื่อการสร้างนวัตกรรม ซึ่งปัจจุบันได้เปิดให้บริการแล้ว

               ทั้งนี้ SMC ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย เพื่อมุ่งไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) และส่งแรงขับเคลื่อนถึงการเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (Thailand 4.0)

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนิน โดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังอาคาร S ทอดพระเนตรนิทรรศการด้านนวัตกรรมการเกษตรของเมืองนวัตกรรมชีวภาพ (EECi BIOPOLIS)  ณ อาคารกรีนเฮ้าส์ ภายในปลูกฟ้าทะลายโจร บัวบก ขมิ้นชัน และกระชายดำ มีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งทดสอบการปลูกพืชมูลค่าสูง เพื่อให้ได้ข้อมูลผลผลิต และวิธีการผลิตที่เหมาะสมในเชิงพาณิชย์

                EECi ถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการนำนวัตกรรมเข้าไปผลักดันอุตสาหกรรมและพัฒนาประเทศด้วยการปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีผ่านการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและกลไกที่จะรองรับงานวิจัยขยายผล (Translational Research) ตลอดจนการปรับแปลงเทคโนโลยีจากต่างประเทศให้เข้ากับบริบทของไทย (Technology Localization)

               สำหรับกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่ EECi มีพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร ได้มีพิธีเปิดหน้าดินเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ภายในพื้นที่ประกอบไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนา โดยในปี 2565 มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมเปิดให้บริการ ได้แก่    ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน และโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ และจะทยอยเปิดโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อาทิ โรงเรือนฟีโนมิกส์ (Phenomics Greenhouse) โรงงานผลิตพืช (Plant Factory) โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery Pilot Plant) และโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่ทางเลือก (Alternative Battery Pilot Plant) ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป

                นอกจากโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการโดย สวทช. แล้ว ภายในพื้นที่ EECi ยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตซึ่งดำเนินการโดยพันธมิตร อีก 3 รายการ ประกอบด้วย 1. สนามทดสอบยานยนต์ไร้คนขับ ดำเนินการโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ 2. เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นที่ 4 ขนาด 3 กิกะอิเล็กตรอนโวลต์ ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตอน (องค์การมหาชน) และ 3. สนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ ดำเนินการโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา EECi ให้เป็นระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสนับสนุนการดึงดูดการลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผ่านการพัฒนาคลัสเตอร์นวัตกรรมใหม่ ที่เกิดจากการผสานความร่วมมือระหว่างบริษัทใหญ่ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันวิจัย สถาบันศึกษา และภาคประชาสังคม รวมถึงการขับเคลื่อนความร่วมมือและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศให้กับหน่วยงานและผู้ประกอบการในประเทศไทย