ไม่ต้องไปไกลถึงดาวอังคาร ก็จำลองประสบการณ์การใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์สีแดงได้ ผ่านนิทรรศการ “หนึ่งวัน…(บนดาว) อังคาร | A Day on Mars” ที่งานมหกรรมวิทย์ปีนี้ที่อิมแพคเมืองทองธานี
เคยสงสัยไหมว่า “ถ้าโลกร้อนถึงขั้นวิกฤติจนมนุษย์อยู่ไม่ได้ ทำไมมนุษย์ต้องอพยพไปอยู่ดาวอังคาร?” หากใครสงสัย มาหาคำตอบได้ในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563” ที่อพวช.หรือ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ รวบรวมคำตอบมาไว้ในนิทรรศการ “หนึ่งวัน…(บนดาว) อังคาร | A Day on Mars”
ภายในงานจะพบกับข้อมูลที่อัดแน่น แต่เป็นความรู้ฉบับย่อยง่ายผ่านบอร์ดที่แทรกด้วยระบบจอภาพอินเตอร์แอคทีฟ สื่อสัมผัสที่สร้างความรู้ให้ดูน่าสนใจ มีเรื่องราวและข้อจำกัดต่างๆ บนอวกาศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย อาหาร การแต่งกายหรือแม้กระทั่งยารักษาโรค
ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์มีการเปรียบเทียบกับดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบสุริยะแล้ว พบว่า ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของโลกมนุษย์ที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ระยะห่างจากดวงอาทิตย์พอเหมาะที่จะทำให้มีอุณหภูมิใกล้เคียงกับการดำรงชีวิต, มีน้ำเป็นองค์ประกอบ, มีฤดูกาลคล้ายโลก, มีแหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์ แม้จะน้อยกว่าโลกแต่ก็เพียงพอต่อการสังเคราะห์แสงของพืชที่จะนำมาปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันได้, มีช่วงเวลากลางวัน-กลางคืน ใกล้เคียงกับโลก โดยดาวอังคารหมุนรอบตัวเอง 24 ชั่วโมง 37 นาที, มนุษย์สามารถปรับตัวกับวิถีชีวิตในรอบวันได้ นอกจากนี้ มีระยะทางไม่ไกลจากโลกมากนัก สามารถเดินทางไปได้ด้วยเทคโนโลยีอวกาศที่เร็วที่สุดในปัจจุบันใช้เวลาเพียง 6-8 เดือน
อย่างไรก็ดีแม้ดาวอังคารจะมีสภาพแวดล้อมและปัจจัยหลายอย่างที่มีความใกล้เคียงกับโลก แต่ถ้าพูดในแง่ของแรงโน้มถ่วง พบว่า ดาวอังคารมีแรงโน้มถ่วงประมาณ 38 % ของโลกเท่านั้น นอกจากนี้การไปสำรวจดาวอังคาร จำเป็นต้องใช้หุ่นยานสำรวจที่ส่งภาพหลักฐานกลับมาให้มนุษย์โลกได้ดู โดยยานที่ใช้ในการสำรวจมี 4 ประเภทคือ ยานบินเฉียด คือบินผ่านวงโคจรในระยะใกล้ (Flyby), ยานโคจรรอบวงโคจรของดาว (Orbiter), ยานลงจอดพื้นดาว (Lander) และยานออกสำรวจพื้นที่ (Rover) ซึ่งการใช้ยานสำรวจก็ขึ้นอยู่กับภารกิจปฏิบัติการสำรวจดาวอังคารที่แตกต่างกันไป อาทิ การปฏิบัติหาจุลินทรีย์, การสำรวจความเป็นไปได้ที่จะอยู่อาศัยบนดาวอังคาร, การทำแผนที่บนดาวอังคารอย่างละเอียด, การสำรวจแร่ธาตุ
สำหรับภารกิจการสำรวจดาวอังคารมีมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ยาน Perseverance ถูกส่งออกจากชั้นบรรยากาศของโลกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2020 โดยจุดเด่นของหุ่นยนต์สำรวจนี้ คือ กล้อง Supercam ที่มี Laser และ Spectrometer ไว้สำหรับแสกนหาสารอินทรีย์หรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิต โดยที่ตัวยานทำงานได้ในระยะ 7 เมตรจากวัตถุที่ต้องการตรวจ อีกทั้งยังติดตั้งเฮลิคอปเตอร์ ควบคุมตนเองขนาดจิ๋วที่มีชื่อว่า Ingenuity เพื่อใช้ถ่ายภาพมุมสูงของพื้นผิวดาวอังคาร เพื่อส่งมายังโลก คาดว่ายานจะลงจอดบนดาวอังคารได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 เราคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า จะพบอะไรที่มีความคืบหน้า หรือความเป็นไปได้ในการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอีกหรือไม่
อพวช.แจ้งว่า ในนิทรรศการนี้ ไม่ใช่มีแค่ความรู้เท่านั้น แต่ยังมีความสนุกและน่าตื่นเต้นกับลูกเล่นอีกมากมายเช่น โรงภาพยนตร์ขนาดย่อมที่ฉายเรื่องราวและความรู้ของภารกิจการค้นหาร่องรอยสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร เกมสร้างชุด มนุษย์ดาวอังคาร และชมหุ่นจำลองยานสำรวจ Curiosity Rover ซึ่งเป็นหุ่นยนต์สำรวจแบบเคลื่อนที่ ที่มีประวัติเคยลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารในวันที่ 5 สิงหาคม 2555 อีกด้วย
สำหรับงานมหกรรมวิทย์ ปีนี้ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-23 พฤศจิกายน 2563 ณ IMPACT Challenger 2 เมืองทองธานี ดูรายละเอียดได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ www.facebook.com/nstfairTH หรือสอบถามข้อมูลที่ อพวช. โทร. 0 2577 9960