ร่วมแสดงความยินดี…กับ 3 นักวิจัยสตรีผู้ได้รับทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “ เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2565 ซึ่ง ลอรีอัล ประเทศไทย จัดขึ้นต่อเนื่อง เป็นปีที่ 20 เพื่อเชิดชูผลงานของนักวิจัยสตรีและส่งเสริมความเท่าเทียมของสตรีในวงการวิทยาศาสตร์
นายแพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการ ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ลอรีอัล ในฐานะบริษัทความงามที่ให้ความสำคัญทางด้านวิทยาศาสตร์ และการทำงานด้านสนับสนุนและเสริมสร้างพลังสตรี เล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนพื้นที่ของสตรีในแวดวงวิทยาศาสตร์เสมอมา เพราะเราเชื่อว่าโลกต้องการวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ต้องการสตรี โดยเฉพาะในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งผู้หญิงยังคงประสบความยากลำบากในการศึกษาและการประกอบอาชีพในสายงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ดังปรากฏในผลการวิจัยของ Catalyst อย่างไรก็ดี ประเทศไทยนับว่ามีพัฒนาการโดดเด่นด้วยสัดส่วนนักวิจัยหญิงสูงถึง 53 % ข้อมูลนี้เน้นย้ำความสำเร็จของการผลักดันความเท่าเทียมทางเพศในแวดวงวิทยาศาสตร์ และเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของความสามารถนักวิจัยสตรีไทยที่ไม่เป็นรองใคร กลุ่มสตรีเหล่านี้เพียงต้องการการสนับสนุนและส่งเสริมอย่างต่อเนื่องให้มีโอกาสได้นำเสนอผลงานและได้มีพื้นที่ยืนในสายงาน โดยเป็นเวลากว่า 20 ปีมาแล้วที่ลอรีอัล ประเทศไทย ได้มอบทุนสนับสนุนนักวิจัยสตรีไทยอย่างต่อเนื่อง เรายังมุ่งมั่นจะเดินหน้ามอบการสนับสนุนแก่นักวิจัยสตรีไทยต่อไป เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้วงการวิทยาศาสตร์ไทย รวมถึงผลักดันให้นักวิจัยสตรีไทยได้มีโอกาสเปล่งประกายบนเวทีโลก”
ทั้งนี้ โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” หรือ For Women in Science ริเริ่มขึ้นในปี 2540 โดย มูลนิธิลอรีอัล ด้วยความร่วมมือจากยูเนสโก แต่ละปีได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่มากกว่า 250 ท่าน ในโครงการระดับประเทศและระดับภูมิภาคทั่วโลก และได้มอบทุนเกียรติยศนานาชาติแก่นักวิจัยสตรีระดับ Laureates ไปแล้วกว่า 120 ท่าน โดยในประเทศไทย โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” มอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ
ลอรีอัล ประเทศไทย ได้ดำเนินงานโครงการมาเป็นปีที่ 20 มีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 81 ท่าน จาก 20 สถาบัน โดยงานวิจัยจะต้องมีศักยภาพชัดเจนในการสร้างประโยชน์ต่อสังคม มีกระบวนการวิจัยที่เหมาะสม ผ่านเกณฑ์การชี้วัดของโครงการฯ มีจริยธรรมในการทำงาน และเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิทยาศาสตร์
และในปี 2565 นี้ นักวิจัยสตรีผู้ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” จากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิทยาศาสตร์ไทย มีทั้งหมด 3 ท่าน ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ชนก บัวเพชร จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากผลงาน “การบูรณาการคุณลักษณะทางนิเวศสรีรวิทยาของหญ้าทะเล เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศและความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ กองพัฒน์พาณิชย์ จากสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ จากผลงาน “การพัฒนาวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ เพื่อการใช้งานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม” และ ดร.อัญชลี จันทร์แก้ว จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ จากผลงาน “บูรณาการระเบียบวิธีศึกษาทางทฤษฎีเพื่อพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์และวัสดุขั้นสูงสำหรับโรงกลั่นชีวภาพและสิ่งแวดล้อม”
รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ชนก บัวเพชร เจ้าของผลงาน “การบูรณาการคุณลักษณะทางนิเวศสรีรวิทยาของหญ้าทะเล เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศและความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน” กล่าวว่า ระบบนิเวศหญ้าทะเลเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ จัดเป็นหนึ่งในระบบนิเวศคาร์บอนสีน้ำเงิน ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แหล่งหญ้าทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กักเก็บคาร์บอนได้สูงสุด 6.8 เทระกรัมต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทว่าปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศไทยมีโครงการฟื้นฟูหญ้าทะเลมากว่า 20 ปี แต่ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมและติดตามระยะยาวอย่างเป็นระบบ
งานวิจัยนี้นับเป็นโครงการแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่บูรณาการองค์ความรู้ด้านนิเวศสรีรวิทยาเพื่อเพิ่มความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเล ทีมผู้วิจัยเลือกศึกษาพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์และแหล่งหญ้าทะเลที่มีโครงการฟื้นฟู โดยมุ่งเน้นศึกษาหญ้าคาทะเล ซึ่งมีศักยภาพกักเก็บคาร์บอนสูงและเป็นชนิดหลักที่ใช้ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในประเทศไทย
ผลการศึกษาจากงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเล ช่วยระบุสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงปัจจัยคุกคาม เพื่อเพิ่มโอกาสและความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเล นำไปสู่การลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และเป็นแนวทางในการจัดการทรัพยากรหญ้าทะเล เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนต่อไป นอกจากนี้ ทีมผู้วิจัยยังเล็งเห็นว่าการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเลยังเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ได้รับความสนใจทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพราะไม่เพียงจะเพิ่มศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่ชายฝั่ง แต่ยังนำไปสู่การเพิ่มแหล่งที่อยู่ของสัตว์ทะเล การรักษาระดับธาตุอาหารในน้ำ และการลดการกัดเซาะชายฝั่งได้อีกด้วย งานวิจัยนี้จึงจะเป็นประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการระดับนานาชาติ สามารถนำไปต่อยอดการฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่อื่นๆ ได้เช่นกัน
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ กองพัฒน์พาณิชย์ กล่าวถึงงานวิจัย “การพัฒนาวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ เพื่อการใช้งานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม” ว่า การปนเปื้อนของโลหะหนักและสารอินทรีย์ที่ระเหยง่าย คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ งานวิจัยนี้ศึกษาวิธีดูดซับโลหะหนักที่มักพบปนเปื้อนในแหล่งน้ำ แหล่งปิโตรเลียม และน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม โดยจะลงลึกเรื่องการพัฒนาวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ (Metal-organic framework, MOF) ซึ่งเป็นวัสดุที่มีรูพรุนจากการเชื่อมต่อกันของกลุ่มโลหะ และโมเลกุลสารอินทรีย์ ให้สามารถปรับเปลี่ยนส่วนประกอบและโครงสร้างได้หลากหลายเพื่อควบคุมหรือเพิ่มคุณสมบัติด้านต่างๆ ให้มีคุณสมบัติที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้
ปัจจุบันวัสดุดูดซับเป็นสิ่งที่ใช้อยู่อย่างแพร่หลายทั้งในชีวิตประจำวันและในภาคอุตสาหกรรม แต่วัสดุดูดซับคุณภาพสูงที่ใช้กำจัดโลหะหนักหรือสารอินทรีย์ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ มักนำเข้าจากต่างประเทศและค่าใช้จ่ายสูง แม้มีการศึกษาวิจัยและใช้งานวัสดุ MOF อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ แต่ในไทยยังไม่พบการศึกษาอย่างกว้างขวางนัก งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดองค์ความรู้ความเข้าใจ ต่อความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างวัสดุและคุณสมบัติการดูดซับ และเป็นเสมือนการเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้อีกนับไม่ถ้วน ที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในชีวิตประจำวัน ในภาคอุตสาหกรรม และในระดับประเทศ
ทั้งนี้ทีมผู้วิจัยก็ได้คำนึงถึงประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน คือเลือกพัฒนาวัสดุ MOF จากพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycling PET plastic) ซึ่งเป็นวัสดุที่มีอยู่ในประเทศ พร้อมทั้งพัฒนากระบวนการสังเคราะห์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานใหม่ในประเทศ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ องค์ความรู้เหล่านี้จะสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาวัสดุ MOF สำหรับดูดซับสารชนิดอื่น หรือแม้กระทั่งพัฒนาวัสดุดูดซับชนิดอื่นๆ ได้ และเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะมีบทบาทและความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต
ขณะที่ ดร.อัญชลี จันทร์แก้ว เจ้าของผลงาน “บูรณาการระเบียบวิธีศึกษาทางทฤษฎีเพื่อพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์และวัสดุขั้นสูงสำหรับโรงกลั่นชีวภาพและสิ่งแวดล้อม” กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพสูง การผลิตสารเคมีชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มจากชีวมวลและของเหลือใช้ทางการเกษตรในโรงกลั่นชีวภาพ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างมูลค่าให้ทรัพยากรอย่างเต็มศักยภาพ
งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นบูรณาการระเบียบวิธีศึกษาทางทฤษฎี เพื่อพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธุ์และวัสดุขั้นสูงที่ราคาเหมาะสม ใน 2 หัวข้อหลักด้วยกัน หนึ่งคือเพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์สารมูลค่าเพิ่มจากชีวมวลในโรงกลั่นชีวภาพ และสองคือ เพื่อใช้ในการบำบัดก๊าซมลพิษ ได้แก่ ก๊าซเรือนกระจก NOx และ CO2 เป็นต้น รวมทั้งการสังเคราะห์สารเคมีมีมูลค่าจากก๊าซดังกล่าว
งานวิจัยนี้จะสร้างชุดความรู้ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจเชิงลึกต่อคุณสมบัติวัสดุและปัจจัยบ่งชี้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของวัสดุตามวัตถุประสงค์การใช้งาน นอกจากนี้ยังช่วยร่นเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ทดสอบวัสดุใหม่ๆ ในห้องปฏิบัติการ ลดความเสี่ยงการสัมผัสสารพิษในห้องปฏิบัติการ สร้างประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโรงกลั่นชีวภาพ และขยายผลต่อยอดอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ การผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก อุตสาหกรรมยา เป็นต้น โดยสอดคล้องกับแผนและนโยบายสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศภายใต้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) พ.ศ. 2564-2570 รวมทั้งอยู่ใต้แพลตฟอร์มตัวเร่งปฏิกิริยาระดับนาโน (Nanocatalysis platform) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหลักที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) มุ่งเน้นและพยายามผลักดันให้เกิดผลผลิตเป็นรูปธรรม โดยมีแผนขยายผลด้วยการศึกษาในระดับโรงงานต้นแบบ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมต่อไป