กระทรวงดิจิทัลฯ และดีป้าประกาศผลรางวัล Smart City Solutions Awards 2022 ชูไอเดียรัฐ – เอกชนประยุกต์ใช้ดิจิทัลพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย
1 ธันวาคม 2565, กรุงเทพมหานคร – กระทรวงดิจิทัลฯ และ ดีป้า จัดพิธีมอบรางวัล Smart City Solutions Awards 2022 แก่ผลงานการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลตามแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมือง และยกระดับการให้บริการประชาชนใน 7 ด้าน รวม 20 รางวัล
นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล Smart City Solutions Awards 2022 แก่ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เจ้าของผลงานการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมือง และให้บริการประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดตามลักษณะของเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน ประกอบด้วย เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) การขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) และพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) รวม 20 รางวัล
นายเนวินธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนคิดค้นและนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ควบคู่ไปกับการบูรณาการการทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยปีนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า จัดให้มีกิจกรรมประกวดเพื่อชิงรางวัลในโครงการ Smart City Solutions Awards 2022 เพื่อเฟ้นหาผลงานที่มีความโดดเด่นในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมือง และให้บริการประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ตามลักษณะของเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 ด้านด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยผลงานต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลเป็นระบบบริการที่ดำเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งจะเป็นต้นแบบองค์ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ในการสร้างสรรค์โซลูชันเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะต่อไป
ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า โครงการ Smart City Solutions Awards 2022 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้มีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมส่งผลงานเข้าประกวดรวม 57 ผลงาน และมีผลงานที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และได้รับรางวัลในแต่ละด้านรวม 20 ผลงาน ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลล้วนเป็นโซลูชันที่มุ่งแก้ไขปัญหาเฉพาะพื้นที่อย่างตรงจุดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล อีกทั้งมีแนวทางการประเมินผล รวมถึงการนำไปใช้อย่างชัดเจน ตลอดจนสร้างความมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
“โครงการ Thailand Smart City Solutions Awards 2022 ถือเป็นการสร้างความตระหนักและกระตุ้นการรับรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล อีกทั้งก่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างไปยังหน่วยงานที่เป็นผู้ให้บริการระบบบริการเมืองอัจฉริยะ รวมถึงประชาชนหรือผู้รับบริการที่จะได้รับรู้และเข้าใจในระบบบริการเมืองอัจฉริยะ และแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการเมือง ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล Smart City Solutions Awards 2022 ใน 7 ด้าน ประกอบด้วย
1. ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) รางวัลชนะเลิศ คือโครงการ หลาดยะลา (Yala Market) “ระบบบริการด้านตลาดออนไลน์กระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น” โดย เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา รางวัลชมเชย คือ โครงการ ส่งเสริมตลาดเกษตรออนไลน์ “สดจากฟาร์ม เสิร์ฟจากเว็บ” โดย สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม จังหวัดนครพนม
2. ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) รางวัลชนะเลิศ คือ โครงการ Smart Grid in Samyan Smart City “ระบบจัดการพลังงานในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ” โดย สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร รางวัลชมเชย คือ โครงการ Smart IoT Street Lighting (โคมไฟถนนอัจฉริยะ) โดย บริษัท จัมโบ้ อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดระยอง
3. ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) รางวัลชนะเลิศ คือ โครงการ Chula Zero Waste “ความยั่งยืนในการจัดการขยะอย่างครบวงจร” โดย สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร รางวัลชมเชย คือ โครงการระบบแสดงข้อมูลการตรวจสอบอาหารทะเลปลอดฟอร์มาลิน โดย เทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี
4. ด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) รางวัลชนะเลิศ มี 2 ผลงาน คือ โครงการระบบรับและบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ออนไลน์ “เพื่อการบริการภาครัฐที่ทันสมัยและคล่องตัว” โดย เทศบาลนครนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช และ โครงการบ้านกลาง One Stop Service “ระบบที่ส่งต่อบริการอย่างครบถ้วนและรวดเร็ว” โดย เทศบาลตำบลบ้านกลาง จังหวัดลำพูน ส่วนรางวัลชมเชยมี 2 ผลงานคือ โครงการโครงข่ายนครสวรรค์เมืองอัจฉริยะ (Super Node) โดย เทศบาลนครนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ และโครงการ บวกค้าง อี เซอร์วิส (Buakkhang E-Service) ภายใต้โครงการไตยอง Smart City โดย เทศบาลตำบลบวกค้าง จังหวัดเชียงใหม่
5. ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) รางวัลชนะเลิศ คือ โครงการระบบรับรองความพิการแบบเบ็ดเสร็จ “การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีแก่กลุ่มเปราะบาง” โดย โรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดหนองบัวลำภู รางวัลชมเชยมี 5 ผลงาน คือ โครงการระบบเฝ้าระวังระดับน้ำในลำคลอง ป้องกันเหตุอุทกภัย โดย เทศบาลนครนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีภาวะพึ่งพิงด้วย Smart Care (ริสแบนด์อัจฉริยะ) โดย องค์การบริหารส่วนตำบลนาหนองทุ่ม จังหวัดขอนแก่น โครงการ EMS 365 องศา พิกัดชีวิต พิกัดฉุกเฉิน โดย เทศบาลตำบลท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการ Application LTC Smart Yangnoeng (ยางเนิ้ง) โดย เทศบาลตำบลยางเนิ้ง จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการส่งเสริมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง โดย เทศบาลตำบลป่าสัก จังหวัดลำพูน
6. ด้านขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) รางวัลชนะเลิศ คือ โครงการ เวียบัส แพลตฟอร์มขนส่งโดยสารประจำทาง “เพื่อความสะดวกในการเดินทางในระบบขนส่งมวลชน” โดย บริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รางวัลชมเชย คือ MuvMi (มูฟมี): EV Tuk-Tuk Sharing โดย สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
7. รางวัล ด้านพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) รางวัลชมเชย มี2 รางวัล คือ โครงการนวัตกรรมสร้างสุขปางหมู Smart Kids ระบบบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอัจฉริยะโดย องค์การบริหารส่วนตำบลปางหมู จังหวัดแม่ฮ่องสอน และโครงการพัฒนาหลักสูตรสำหรับวิทยากรต้นแบบ (Master Teacher) โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
นอกจากนี้ ในพิธีมอบรางวัล Smart City Solutions Awards 2022 ดีป้า ยังได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะกับ 4 หน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ บริษัท เทค มาฮินดร้า จำกัด โดยมุ่งให้ความสำคัญกับประชาชนที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาไปพร้อมกับการสร้างระบบนิเวศที่ทำให้เกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ หน่วยงานท้องถิ่น เอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน เพื่อเป็นกลไกในการยกระดับศักยภาพกำลังคนและบุคลากรให้พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีหลายพื้นที่แสดงความสนใจจะพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยมีเมืองที่ส่งแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะมายังสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทยแล้ว 66 แผน และมีเมืองที่ได้รับตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะแล้ว 30 เมืองใน 23 จังหวัด นอกจากนี้ ดีป้า ยังให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากร ยกระดับทักษะการพัฒนาเมืองแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้นำเมืองและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแผนพัฒนาเมือง รวมถึงการบ่มเพาะนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (Smart City Ambassadors) รุ่นที่ 2 จำนวน 150 คนที่จะทำหน้าที่เป็นทูตเทคโนโลยีลงพื้นร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะกับหน่วยงานร่วมพัฒนาเมือง 56 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายการพัฒนาเมืองที่เข้มแข็งต่อไป