เชื่อว่า..หลายคนเริ่มเข้าใจและตระหนักถึงพิษภัยของขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า “E-Waste” ผลพวงจากการบริโภคเทคโนโลยีที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากไม่มีการบริหารจัดการซากของผลิตภัณฑ์หรือไม่นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
ที่ผ่านมา …เอไอเอส ในฐานะผู้ให้บริการด้านดิจิทัล โทรคมนาคมและโครงข่ายอัจฉริยะ ได้มุ่งมั่นในการพัฒนา Ecosystem หรือระบบนิเวศในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้ให้ตระหนักถึงปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงสร้างกระบวนการจัดเก็บและรีไซเคิลแบบ Zero Landfill ตามมาตรฐานสากล ภายใต้ภารกิจ “คนไทยไร้ E-Waste”
3 ปีที่ผ่านมาในการขับเคลื่อนโดยมีพันธมิตรสีเขียวร่วมดำเนินโครงการ 142 องค์กร มีจุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือดรอปพอยต์ กว่า 2,484 จุด และรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว 397,376 ชิ้น
แต่แค่นี้ ยังไม่พอ….
“นางสายชล ทรัพย์มากอุดม” หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS บอกว่า “เป้าหมายของเราคือการสร้างพันธมิตรสีเขียว เพื่อชักชวนคนมา จากสิ่งเล็ก ๆ ไปสู่สิ่งใหญ่ ๆ และในที่สุด เราเชื่อว่าเราจะขับเคลื่อนจากการสร้างความตระหนัก สู่การมีส่วนร่วม และกลายเป็นพฤติกรรมและนิสัย ซึ่งเป้าหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ “ เราต้องการที่จะเป็นศูนย์กลางของ E-Waste ในประเทศไทย ” เพื่อพิสูจน์ ให้เห็นว่าประเทศไทย และคนไทยมีความตระหนักรู้ ในฐานะผู้ใช้ ผู้บริโภคและผู้สร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน”
และเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในวงกว้างมากขึ้น เอไอเอสได้ยกระดับการขับเคลื่อน E-Waste ให้กลายเป็น “ E-Waste+” ซึ่งเป็นการพลิกโฉมระบบนิเวศการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ( Blockchain) บนแพลตฟอร์ม E-Waste+ รายแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เป็นการนำศักยภาพโครงข่ายอัจฉริยะ กับเทคโนโลยีบล็อกเชนมาพัฒนากระบวนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ผู้ทิ้งจนถึงโรงงานรีไซเคิล เพื่อให้ทุกคนสามารถจัดการขยะ E-Waste ได้ง่ายขึ้น เห็นผลลัพธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บนแพลตฟอร์ม E-Waste+
แพลตฟอร์มนี้จะเริ่มใช้งานจริงกับ 6 องค์กรนำร่องคือ บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท เงินติดล้อ จำกัด, ธนาคารออมสิน และธนาคารกสิกรไทย เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน และยังทำงานร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่เข้ามาสนับสนุนแนวทางการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากการรีไซเคิล E-Waste อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล
นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS บอกว่า นี่คือตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน มาใช้แก้ปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยเทคโนโลยีบล็อกเชน จะทำงานผ่านกระบวนการ Track and Trace ทำให้ขยะ E-waste ทุกชิ้น สามารถตรวจสอบสถานะได้ทั้งกระบวนการ
“เทคโนโลยี Blockchain จะช่วยทำให้ผู้ทิ้งมั่นใจว่าขยะ E-Waste จะถูกนำส่งไปยังกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานและโปร่งใส ซึ่งจะสามารถตรวจสอบสถานะของกระบวนการนำส่งได้ในแต่ละขั้นตอน และนอกเหนือจากนั้นยังสามารถคำนวณปริมาณ Carbon Scores ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการลงมือทำในกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สามารถแชร์ในโซเชียลและแสดงตัวตนในโลก Metaverse ได้”
ทั้งนี้ AIS มีแผนพัฒนาให้ Carbon Scores ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการขยะ E-Waste อย่างถูกต้อง นำไปใช้เป็น Utility Token ที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับองค์กรพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการนี้อีกด้วย
สำหรับสถานการณ์ภาวะเรือนกระจกในปัจจุบัน “ นางสาวนารีรัตน์ ธนะเกษม ” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาศักยภาพและเผยแพร่องค์ความรู้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งมีภารกิจในการผลักดันให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน บอกว่า ตัวเลขล่าสุดจากถ้อยแถลงของประเทศไทยต่อที่ประชุมระดับผู้นำการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) ณ เมืองชาร์ม-เอล-เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 40 ภายในปี 2030 และประเทศไทยจะต้องมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065
นี่คือสิ่งที่เราจะต้องทำให้ได้ … ซึ่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเช่น มือถือ ตั้งแต่ผลิตก็ล้วนแต่มีศักยภาพทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ทำให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้
สำหรับผู้ที่สนใจ อยากมีส่วนร่วมในการทำความดี ด้วยการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี และยังมั่นใจถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างโลกสีเขียวที่ยั่งยืน แถมยังรู้ได้อีกว่าสิ่งที่เราทิ้งไปทดแทนการปลูกต้นไม้ได้กี่ต้น สามารถโหลดแอปพลิเคชั่น “ E-Waste+” ได้เลย รองรับทุกเครือข่ายและทั้งระบบ Android และ IOS
ส่วนองค์กรที่สนใจใช้งานแพลตฟอร์ม E-Waste+ สามารถเข้าร่วมเป็นเครือข่าย Green Partnership โดยดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://ewastethailand.com/ewasteplus
จากการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ให้เกิดความตระหนัก พร้อมเติมเต็มส่วนอื่น ๆ ในระบบนิเวศ เรียกว่าช่วยกันในทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่เจอแต่ไม้เสียบลูกชิ้นหรือกระป๋องน้ำอัดลมในกล่องทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่วางอยู่ตามจุดต่าง ๆ
และจากมุมมองของพันธมิตรสีเขียวที่ร่วมนำร่องในโครงการ หากสามารถแปลงขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปเป็นเงินในมือถือที่สามารถใช้จ่ายได้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะว่า “แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์นั้นก็สำคัญกว่าการสร้างจิตสำนึกเพียงอย่างเดียว”