สดร. มอบรางวัลการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2563 ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” ภายในงานมหกรรมวิทย์ 63ที่อิมแพค เมืองทองธานี
รองศาสตราจารย์ ดร. พีรเดช ทองอำไพ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ประธานในพิธีมอบรางวัล กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ในปีนี้ และขอชื่นชมในความสามารถ ความตั้งใจของทุกท่านที่ได้ร่วมกันสร้างสรรผลงานภาพถ่ายปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในมุมมองใหม่ รวมถึงปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ยากสู่สายตาสาธารณชน ภาพถ่ายดาราศาสตร์ถือเป็นสื่อทางดาราศาสตร์อย่างหนึ่งที่ใกล้ตัว สามารถจับต้องได้ง่าย นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์และความสวยงามของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ บนท้องฟ้าแล้ว ยังสร้างความประทับใจ สร้างแรงบันดาลใจในการสังเกต การค้นคว้า การเสาะแสวงหาความรู้อย่างมีเหตุมีผลตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมนี้จะจุดประกายให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ประชาชนทั่วไป หันมาสนใจดาราศาสตร์กันมากยิ่งขึ้น และสร้างนักดาราศาสตร์สมัครเล่นหน้าใหม่ให้เพิ่มมากขึ้นจากกิจกรรมการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์
ทั้งนี้สดร. จัดกิจกรรมประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์เป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 แบ่งประเภทภาพถ่ายออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ภาพถ่ายวัตถุในห้วงอวกาศลึก ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ วัตถุในระบบสุริยะ วิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ และปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก ในปี 2563 มีผลงานภาพถ่ายดาราศาสตร์ส่งเข้าร่วมประกวดกว่า 800 ภาพ จากผู้ที่สนใจจำนวนกว่า 300 คน ภาพถ่ายที่ได้รับรางวัล สดร. จะนำไปต่อยอดสร้างประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อาทิ ผลิตสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ในรูปแบบต่าง ๆ จัดทำปฏิทินดาราศาสตร์ รวมทั้งนำไปจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ในโอกาสต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนทุกภูมิภาค ได้สัมผัสความสวยงามและความมหัศจรรย์ของท้องฟ้า ดวงดาว รวมถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ อย่างทั่วถึงต่อไป
สำหรับผลการตัดสินการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี 2563 หัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” มีดังนี้
1. ประเภท Deep Sky Objects รางวัลชนะเลิศ คือ Mr. Michael Selby ชื่อภาพ “NGC 3521 Spiral Galaxy”รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือนายวชิระ โธมัส ชื่อภาพ “Blue Sisters” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ นายพรศักดิ์ เจียมสว่างพร ชื่อภาพ “The Big Bubble” และรางวัลชมเชย คือ นายพรชัย อมรศรีจิรทร ชื่อภาพ “The Sea of Nebula”
2. ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ รางวัลชนะเลิศ คือนายทศ สหกูล ชื่อภาพ “ความงามที่ลงตัว” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือนายณภัทร เมืองนิล ชื่อภาพ “Under the Moon Shadow” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือนายกีรติ คำคงอยู่ ชื่อภาพ “Geminids Meteor Shower 2018” และรางวัลชมเชย คือ นายปวีณ อารยางกูร ชื่อภาพ “Total Lunar Eclipse January 2017, The Series”
3. ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ รางวัลชนะเลิศ คือนายวชิระ โธมัส ชื่อภาพ “C/2020 F3 (NEOWISE)”รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือนายชยพล พานิชเลิศ ชื่อภาพ “Venus 2020” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ Mr.Pierre Fromentin ชื่อภาพ “Jupiter from Sathorn” และรางวัลชมเชย คือนายสิทธิ์ สิตไทย ชื่อภาพ “H-alpha Solar Full disk”
4. ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ รางวัลชนะเลิศ คือ นายวรวิทย์ จุลศิลป์ ชื่อภาพ “แสงดาว ที่เสาดิน ดินแดนมหัศจรรย์ ตาพระยา ไทยแลนด์ ” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือนายปองพล ชนะภัย ชื่อภาพ “หยุดเวลา” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือนายจิโรจน์ จริตควร ชื่อภาพ “พลังงานบางอย่างกับแสงจักรราศี” และรางวัลชมเชย คือ น.ส. ณภัทรกาญจน์ กาญจน์อุดมฤกษ์ ชื่อภาพ “ยอยักษ์กับทางช้างเผือก”
และ5. ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก รางวัลชนะเลิศ คือ นายสุภฉัตร วรงค์สุรัติ ชื่อภาพ “Blue Jet”รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือนายณัฐพล พลบำรุงวงศ์ ชื่อภาพ “3 งวง” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือนายวิรัช สวัสดี ชื่อภาพ “พระอาทิตย์ยามเช้ารูปตุ๊กตาดารุมะ” และรางวัลชมเชย คือนายชัชชัย จั่นธนากรสกุล ชื่อภาพ “Milkyway Moondogs & NEOWISE”
นายวรวิทย์ จุลศิลป์ เจ้าของภาพ “แสงดาว ที่เสาดิน ดินแดนมหัศจรรย์ ตาพระยา ไทยแลนด์” รางวัลชนะเลิศ ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ กล่าวว่า ดีใจที่ได้รับรางวัลหลังจากห่างหายจากการถ่ายภาพไปนานนับปี กลับมาคราวนี้ตั้งใจจะถ่ายภาพเส้นแสงดาว ได้ออกค้นหาสถานที่ที่เหมาะสมหลายแห่งและศึกษาเทคนิคการถ่ายภาพเส้นแสงดาวออกมาให้สวยงาม จนได้ภาพนี้ซึ่งใช้เวลาถ่ายยาวนานกว่า 8 ชั่วโมง สำหรับใครที่ชื่นชอบการถ่ายภาพดาราศาสตร์ก็ขอเชิญชวนให้ส่งผลงานเข้าประกวด เพราะปรากฏการณ์ดาราศาสตร์บางอย่างสามารถนำมาเผยแพร่ให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ชื่นชมและศึกษาต่อไป
นายสุภฉัตร วรงค์สุรัติ เจ้าของภาพ “Blue Jet” รางวัลชนะเลิศ ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศโลก กล่าวว่า ตั้งแต่ขับเครื่องบินมา 28 ปี เป็นครั้งแรกที่เห็นฟ้าผ่าย้อนขึ้นข้างบนแบบนี้ ตอนเห็นแทบไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง แต่พอเห็นว่าเกิดซ้ำอีกครั้งจึงวางแผนถ่ายรูปดังกล่าวจากหน้าต่างห้องนักบิน รู้สึกดีใจมากที่ได้นำภาพนี้มาสู่สายตาของคนไทยทุกคน เนื่องจากปรากฏการณ์บลูเจทเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ยากมาก หากมีโอกาสอีกครั้งจะถ่ายภาพให้ได้เห็นกันว่าปลายเส้นสายฟ้านั้นพุ่งขึ้นไปสูงกว่าที่เห็นในภาพนี้มากเพียงใด
นายวชิระ โธมัส เจ้าของภาพ “C/2020 F3” (NEOWISE) รางวัลชนะเลิศ ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ กล่าวว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้เริ่มส่งภาพถ่ายดาราศาสตร์เข้าประกวดมาจากปฏิทินดาราศาสตร์ของ สดร. ที่ตีพิมพ์ภาพถ่ายของผู้ได้รับรางวัลในแต่ละปี การถ่ายภาพดาราศาสตร์หากได้เริ่มแล้วไม่ใช่เรื่องยากและไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด ปัจจุบันมี สดร. เป็นหน่วยงานที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่เข้าใจง่าย นักถ่ายภาพสมัครเล่นที่สนใจถ่ายภาพดาราศาสตร์สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว ศึกษาเพิ่มเติม และลงมือถ่ายภาพ โดยใช้ความอดทน ความหลงใหล และความตั้งใจ ก็จะสามารถถ่ายภาพออกมาได้อย่างสวยงาม