ดำเนินโครงการมาเป็นปีที่ 14 กับ “โครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด” ที่มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และดีแทค (dtac) จัดขึ้น เพื่อพัฒนาผู้นำชุมชน ด้วยปณิธานที่หวังปลุกจิตสำนึกการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนแก่เยาวชน ของผู้ก่อตั้ง “ คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ”
“ คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ” ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกัน ฯ มุ่งมั่นที่จะสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดีให้กับแผ่นดินไทย จึงน้อมนำและดำเนินตามรอยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ตามหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” ผสมผสานกับ “เกษตรทฤษฎีใหม่” มาเป็นหลักในโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดทุกปี เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณเกษตรกรต้นแบบต่อสาธารณชน ให้ได้เป็นที่รู้จักและเป็นแบบอย่างที่ดี ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ และก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
โดยในปี 2565 นี้ โครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 ภายใต้แนวคิด “เกษตรนวัตกรรม เพื่อความสุขยั่งยืน” เพื่อเฟ้นหาเกษตรกรที่มีศักยภาพในการเป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ที่มีวิธีคิดอย่างเป็นระบบ สามารถนำองค์ความรู้และนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอด และประยุกต์ใช้งานจนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สามารถปรับตัวกับกระแสการเปลี่ยนแปลง พึ่งพาตนเองได้ และพร้อมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
จากผู้สมัครหลายร้อยคน ผ่านการคัดเลือกจนเหลือผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย เข้าร่วมนำเสนอไอเดียและผลิตภัณฑ์ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กรมส่งเสริมการเกษตร ดีแทค ม.เกษตร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และบริษัทรักบ้านเกิด จำกัด ร่วมกันเฟ้นหาสุดยอดเกษตรกรสำนึกรักบ้าเกิดประจำปี พ.ศ.2565
ผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นสุดยอดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดประจำปี พ.ศ.2565 ได้แก่ “ประเสริฐ ไกนอก” เกษตรกรจากโกโก้นางั่ว จังหวัดเพชรบูรณ์ เกษตรกรผู้ใช้นวัตกรรมทางความคิด ปรับ Mind set เพื่อสร้างระบบนิเวศ ให้ทั้งคนและต้นไม้อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเอง ทำการเกษตรที่ลดต้นทุนและยั่งยืน
ประเสริฐ ไกนอก บอกว่า ด้วยความที่ไม่อยากให้รุ่นลูกรุ่นหลานที่ทำเกษตร ต้องเจอสภาวะเหมือนอดีต ไม่หลุดพ้นจากวงจรหนี้สินที่ผูกพันไปเรื่อย ๆ จากการปลูกพืชเลื่อนลอย จึงนำไปสู่การใช้นวัตกรรมทางความคิดที่จะปรับ Mind set เพื่อสร้างระบบนิเวศให้ทั้งคนและต้นไม้อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเอง เป็นการทำเกษตรที่ลดต้นทุนและยั่งยืน จึงได้รวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กลับมาอยู่บ้านเกิด ก่อตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโกโก้นางั่ว” ปลูกและรับซื้อผลผลิตโกโก้จากเกษตรกร มาทำเป็น “คราฟท์ช็อกโกแลต ออริจิ้น เพชรบูรณ์” นำเทคโนโลยีมาใช้ทำการตลาด เช่น การจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ การประชาสัมพันธ์กลุ่มผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และช่องทางการให้ความรู้ผ่าน YouTube ในชื่อช่อง Cacao Hub”
เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดปีนี้ ย้ำว่า สิ่งที่ทำไม่ใช่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกโกโก้ หรือพืชใด ๆ แต่เป็นมุ่งเน้นให้เกิดแนวคิดในการสร้างระบบนิเวศที่ทำให้คนในชุมชนสามารถทำการเกษตรได้แบบยั่งยืน เพราะ คน ต้นไม้ สามารถจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเอง
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “จตุรงค์ จันมา” เกษตรกรจากสวนนำฮอย จังหวัดยโสธร เกษตรกรนักคิดค้น พัฒนา นำไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์โดยใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลทางการเกษตร ในกระบวนการผลิตข้าวตั้งแต่เริ่มปลูกจนเก็บเกี่ยวผลผลิต
“จากปัญหาสุขภาพ ที่เกิดจากการรับประทานข้าว ผัก ผลไม้ ที่ใส่ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงมาอย่างยาวนาน จึงเกิดความคิดที่อยากจะชักชวนพ่อแม่ พี่น้อง หันมาทำเกษตรอินทรีย์ เหมือนในสมัยก่อน จนกลายเป็น “กลุ่มเกษตรอินทรีย์ดงแคนใหญ่” ปลูกข้าวไร้สารพิษ เน้นปฏิบัติในแปลงตั้งแต่ต้นปี โดยการไถกลบต่อฟางข้าว หว่านหรือปลูกพืชปุ๋ยสด เพิ่มแร่ธาตุสารอาหารในดิน รวมถึงการนำนวัตกรรมในการคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าว ใช้แทรกเตอร์ในการไถเตรียมดิน นำเทคโนโลยีการดำนากลีบเดียว และส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มผลิตน้ำหมักชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์ เพื่อใช้ในการบำรุง และเร่งการเจริญเติบโต ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต ตลอดจนได้ผลผลิตที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อพื้นที่ปลูก”
ขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ “ธนาสิทธิ์ สอนสุภา” จากสวนลุงไข่ เกษตรอินทรีย์ จังหวัดชุมพร หนุ่มไอทีผู้ผันตัวเองเป็นเกษตรกรเต็มตัว สานต่อสวนกาแฟจากคุณพ่อที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า พัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ ใช้เครื่องซักผ้าในการปั่นล้างผลกาแฟ รวมถึงใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างเครื่องสีกาแฟสด เครื่องล้างขัดเมือก เครื่องสีกะลา ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมนำความรู้ที่มีมาแบ่งปันคนในชุมชน และสามารถกำหนดราคากาแฟเองได้ ไม่ต้องผ่านคนกลาง เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง มีความสุข และยั่งยืน
นอกจากนี้ยังมี 7 รางวัลเกษตรกรดีเด่น ซึ่งประกอบด้วย
“ธวัชชัย สุริยะธรรม” เกษตรกรจากสยามทรัส (Siam Trust) จังหวัดเลย ลูกหลานเกษตรกรที่มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการกลับมาทำการเกษตร โดยเลือกที่จะแปรรูปกล้วยน้ำว้าให้เป็นกล้วยตากรสชาติต่าง ๆ ส่งเสริมการปลูกกล้วยโดยการรวมกลุ่มกับเกษตรกรในพื้นที่ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการควบคุมการผลิต โดยต้องการยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร
“จักรภพ แสงแก้ว” จากพรานพอเพียง ออร์แกนิค ไลฟ์สไตล์ แอนด์ ฟาร์ม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกรที่เห็นถึงปัญหาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชนที่เริ่มเสื่อมถอย จึงลุกขึ้นมาทำเกษตรแบบผสมผสานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่วยในการเพิ่มผลผลิต และมีแนวคิด “Zero waste” เป็นกรอบในการทำงาน
“ นที โดดสูงเนิน” เกษตรกรจากอำพันฟาร์ม จังหวัดนครราชสีมา ที่ตัดสินใจกลับมาสานต่ออาชีพเลี้ยงโคนมจากครอบครัวและต่อยอดพัฒนาให้เกิดรายได้ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต
“ชัยพิสิษฐ์ สอนศรี” เกษตรกรจากมายโฮม @41 จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ผันตัวเองจากอาชีพเลี้ยงสุกรที่กำลังประสบปัญหาโรคระบาด หลังจากศึกษาศาสตร์ของพระราชาฯ จึงหันมาปลูกพืชผักอินทรีย์แทน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
“ ดร.พิธาน ไพโรจน์” เกษตรกรจากไร่นาปภาวรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ อดีตวิศวกรโยธาและอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัย ที่ต้องใช้ชีวิตแบบเร่งด่วนและเต็มไปด้วยมลพิษ ที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา จึงเริ่มศึกษาหลักปรัชญาพอเพียง และลงมือทำที่ไร่นาปภาวรินทร์ เพื่อสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยให้กับครอบครัวและชุมชน
“ วาริส แก้วภักดี” เกษตรกรจากกรีนวิลล์ฟาร์ม จังหวัดฉะเชิงเทรา จากแรงบันดาลใจ ผักสลัดแปลงเล็ก ๆ หลังโรงรถ ต่อยอดเป็นธุรกิจฟาร์มคาเฟ่ ที่ทุกคนสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำฟาร์มพร้อมกับทานเมนูอร่อย ๆ จากผลผลิตที่เก็บสด ๆ จากโรงเรือนที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ
และ “อมลวรรณ ปริดตา” เกษตรกรจากอิมม์ฟาร์ม จังหวัดลำพูน ที่มีเป้าหมายคือต้องการขายนมที่อร่อยมีคุณภาพสูง มีการลองผิดลองถูกจนได้นมที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และเมื่อประสบปัญหาจากโควิด-19 สหกรณ์รับซื้อน้ำนมน้อยลง จึงพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยการขายนมคอร์สหรือการผูกปิ่นโตนม ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี พร้อมกันนี้ได้มีการแปรรูปนมเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อีกด้วย
สำหรับก้าวต่อไป คุณบุญชัย บอกว่า ปีที่14 ไม่ใช่ปีสุดท้าย ซึ่งในปีที่ 15 อาจจะมีการยกระดับความร่วมมือจากการส่งเสริมเกษตรกรในรายบุคคล ไปสู่การสนับสนุนเกษตรกรแปลงใหญ่ ที่จะมีการโชว์เคทเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ
และนี่…ไม่ใช่แค่ผลงานของเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดทั้ง 10 ท่าน แต่เป็นต้นแบบเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดทั้ง 140 ท่านใน 14 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่สร้างสรรค์ มีประโยชน์ และสามารถเป็นตัวอย่างสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ “ให้กล้าที่จะคิดและตัดสินใจกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง ”