“กมธ.ดีอีเอส” จับมือ “GISTDA” เปิดศูนย์เรียนรู้ด้านอวกาศเวียงป่าเป้า พร้อมตั้งเป้าสร้างฐานความเข้มแข็งให้ชุมชนทั่วประเทศด้วยเทคโนโลยีอวกาศ
23 ธันวาคม 2565 คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิด “โครงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology Laboratory” โดยมีนางสาวกัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธาน กมธ.ดีอีเอส เป็นประธาน และ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมวิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
นางสาวกัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์นี้ นับว่ามีประโยชน์อย่างมากในการส่งต่อคุณค่าให้กับประชาชนและสังคม โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ให้กับเยาวชนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะให้เยาวชนหันมาสนใจเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อจะนำไปพัฒนาต่อยอดสร้างประโยชน์มากขึ้นและเป็นการเตรียมความพร้อมให้คนไทยสามารถสร้างอาชีพด้านอวกาศในอนาคต ตลอดจนการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดย กมธ.ดีอีเอส พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อสานฝันให้กับเยาวชนไทยต่อไป
ด้านพันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า โครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อขยายการรับรู้และการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเทคโนโลยีดาวเทียมและการประยุกต์ใช้ ให้ลงสู่ชุมชนให้มากขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดของการสร้างดาวเทียมที่เปลี่ยนไปมากจากในอดีต ทั้งนี้ในอดีตการสร้างดาวเทียมหรือส่งดาวเทียม จะสามารถทำได้ในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีบุคลากร วิศวกรที่มีความรู้ ความชำนาญเป็นพิเศษและมีแต่ต้นทุนในการสร้างสูงมาก แต่ในปัจจุบันโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาก็สามารถสร้างดาวเทียมเพื่อการศึกษาและวิจัยได้เองแล้ว โดยมีต้นทุนที่ต่ำลงมากแต่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการใช้งาน และการดำเนินงานในครั้งนี้ยังเป็นการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย
ทั้งนี้เรื่องของเทคโนโลยีอวกาศเป็นเรื่องที่หลายคนหลายหน่วยงานให้ความสนใจทั้งในภาครัฐและโดยเฉพาะในภาคธุรกิจ จะเห็นได้จากจำนวนของบริษัทและผู้ประกอบและบริษัทที่สนใจและเข้ามาดำเนินงานในธุรกิจดาวเทียมและอุตสาหกรรมอวกาศที่มีเพิ่มมากขึ้น และสามารถผลิตชิ้นส่วนด้านการบินและอากาศยานเพื่อส่งออก หรือแม้แต่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าหลายประเทศได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพในด้านดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงการประยุกต์ใช้งานและมีการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ เอกชนและกลุ่ม start-up เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ตรงจุดและทันต่อเหตุการณ์ การใช้งานในภาคการเกษตรก็ถูกยกระดับกลายเป็นธุรกิจระดับที่สตาร์ทอัพที่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
จากแนวความคิดดังกล่าว จึงได้มีการร่วมหารือในแนวทางและลงมือปฏิบัติ โดยเริ่มต้นในระดับเยาวชน กมธ.ดีอีเอส , GISTDA พร้อมด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้ร่วมหารือกันด้วยวัตถุประสงค์ที่เห็นพ้องต้องกันคือ ต้องการพัฒนาพื้นที่ในส่วนภูมิภาค และสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านกิจการอวกาศที่ทันสมัย ยกระดับการเรียนรู้ให้ประชาชนในพื้นที่ให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมและการประยุกต์ใช้งาน เช่น ใช้ในการวางแผนจัดการทรัพยากรน้ำ ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการประเมินผลกระทบจากภัยพิบัติ เพื่อการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า และลดผลกระทบหรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งต่อบุคคลและทรัพย์สิน
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้นี้จะทำให้ภาคเหนือมีศูนย์การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศ ดาวเทียมสำรวจโลก ภูมิสารสนเทศและการประยุกต์ใช้ที่ทันสมัย เด็กนักเรียนได้ตระหนักและเข้าถึงเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เกิดแรงบันดาลใจในการอยากเรียนรู้และอาจนำไปสู่อาชีพ กิจการในอนาคต สำหรับประชาชนและคนในพื้นที่จะได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการดูแลชุมชน รวมถึงทรัพยากรต่างๆ ในพื้นที่ เช่น การติดตามภัยและเตรียมความพร้อมจากไฟป่าและหมอกควันหรือน้ำท่วม หรือแม้แต่การสนับสนุนข้อมูลภัยแล้งหรือสภาพอากาศสำหรับการเตรียมการ การติดตามการเพาะปลูกและดูแลพืชอย่างเหมาะสม เป็นต้น
“ อีกหนึ่งความสำคัญที่ต้องกล่าวถึงคือ วิทยาลัยเวียงป่าเป้าที่ให้การสนับสนุนสถานที่เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านอวกาศอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการให้เยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศ และตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่อาศัยอยู่ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้งานในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม การเริ่มต้นในวันนี้กับกลุ่มเยาวชนจึงเป็นสิ่งที่ดี อนาคตเราจะได้เห็นประเทศไทยจะก้าวไกลในด้านภารกิจอวกาศและสามารถต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจอวกาศและเวทีระดับโลก อีกทั้ง ยังเป็นการเน้นย้ำบทบาทของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการให้มีใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็น 1 ในยุทธศาสตร์สำคัญตามแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาอีกด้วย” ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว