สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) แถลง 10 เรื่องดาราศาสตร์ที่น่าติดตามในปี 2566
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ดร. วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมกันแถลงถึงปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ ๆ ใน ปี 2566 ว่า ในปี 2566 จะมีปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ เช่น ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี และเป็นจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน หรือที่เรียกกันว่า Super Blue Moon ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ ฝนดาวตกเจมินิดส์ ฯลฯ และชวนเกาะกระแสดาราศาสตร์โลกในปีหน้ากับโครงการสำรวจระบบสุริยะของหลายประเทศ จับตาการค้นพบใหม่จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ผลงานวิจัยของนักดาราศาสตร์ไทยที่โดดเด่นในระดับนานาชาติ และที่สำคัญคือก้าวต่อไปของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติที่จะยกระดับงานวิจัยของไทยให้ก้าวไป
นอกจากนี้ยังมีการก้าวสู่ World Class เปิดมิติใหม่กับงานวิจัยโบราณดาราศาสตร์ที่ใช้ดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือย้อนรอยโบราณคดี ส่วนงานด้านพัฒนาเทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูงยังคงรุดหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนากำลังคน และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง (Deep Tech) ภายในประเทศ สำหรับงานด้านการบริการวิชาการและสื่อสารดาราศาสตร์สู่สังคม เตรียมเปิดให้บริการหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนแห่งที่ 4 ของไทยที่จังหวัดขอนแก่น พร้อมผุดอีกหนึ่งโครงการสำคัญ ดาราศาสตร์เพื่อคนทั้งมวล มุ่งหวังกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ดาราศาสตร์ได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน
สำหรับ 10 เรื่องดาราศาสตร์ที่น่าติดตามในปี 2566 มีดังนี้
1.ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ได้แก่ ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี และเต็มดวงครั้งที่สองของเดือน (Super Blue Moon) ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ จันทรุปราคา – สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี
2. ฝนดาวตกน่าติดตาม โดดเด่นที่สุด ได้แก่ ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ หรือฝนวันดาวตกวันแม่ คืน 12 – เช้า 13 ส.ค. 66 คาดการณ์อัตราการตกสูงสุด 100 ดวง/ ชั่วโมง และ ฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 14 – เช้า 15 ธ.ค. 66 คาดการณ์อัตราการตกสูงสุด 150 ดวง/ ชั่วโมง
3. เกาะกระแสวงการดาราศาสตร์โลก หลายประเทศทั่วโลกกำหนดภารกิจส่งยานไปสำรวจระบบสุริยะได้แก่ การสำรวจดวงอาทิตย์ โดยยาน Aditya-L1 (อินเดีย) การสำรวจดวงจันทร์ ซึ่งมี โครงการ Commercial Lunar Payload Services (CLPS) ของภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐของสหรัฐอเมริกา ยานสำรวจจากองค์การอวกาศของภาครัฐ อาทิ Chandrayaan-3 ของอินเดีย Luna 25 ของรัสเซีย SLIM ของญี่ปุ่น และ Seven sisters ของออสเตรเลีย ส่วนการสำรวจวัตถุอื่นในระบบสุริยะ เช่น Psyche ยานโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยของสหรัฐอเมริกา/ JUICE (Jupiter Icy Moons Explorer) ยานสำรวจดวงจันทร์น้ำแข็งขนาดใหญ่ของดาวพฤหัสบดี (ยูโรปา แกนิมีด คัลลิสโต) ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA)
4. กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ กับสุดยอดการค้นพบครั้งใหม่ในอนาคต มาติดตามกันต่อไปว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทันสมัยที่สุดนี้จะไขปริศนาใดอีกในเอกภพ และจะนำมาซึ่งการค้นพบใหม่ๆ ที่ไม่คาดฝันอะไรอีกบ้าง
5.จับตางานวิจัยดาราศาสตร์ที่โดดเด่นระดับโลก ผลงานของนักดาราศาสตร์ไทยคลื่นลูกใหม่ ในหลากหลายสาขา ได้แก่ จักรวาลวิทยาและฟิสิกส์ดาราศาสตร์พลังงานสูง จักรวาลวิทยาและดาราศาสตร์ทฤษฎี ดาราศาสตร์วิทยุ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และชีวดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ดาวฤกษ์
6.ก้าวต่อไปของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ เตรียมเปิดดำเนินการกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ เก็บข้อมูลวัตถุท้องฟ้าจริง เพื่อศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุ พร้อมวางแผนพัฒนากำลังคน สร้างนักดาราศาสตร์วิทยุรุ่นใหม่ เพื่อร่วมทำงานวิจัยในระดับ World Class
7.งานพัฒนาเทคโนโลยี และวิศวกรรมดาราศาสตร์ขั้นสูง เผยสุดยอดการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีคลื่นวิทยุความถี่สูง และอุปกรณ์ทัศนศาสตร์ที่ต่อยอดจากดาราศาสตร์ไปสู่สาขาอื่น อาทิ เครื่องรับสัญญาวิทยุย่านคิว ย่านซี โคโรนากราฟรูปแบบใหม่ สเปกโทรกราฟความละเอียดต่ำ ฯลฯ
8. โบราณดาราศาสตร์ ดาราศาสตร์ย้อนรอยโบราณคดี การใช้ดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีผ่านกระบวนการวิทยาศาสตร์ ศึกษาการวางทิศของศาสนสถาน และโบราณสถาน ได้แก่ วัดพระธาตุดอยสุเทพ ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทพิมาย ที่เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
ความเชื่อ ประเพณี และปฏิทินสุริย-จันทรคติ การใช้ตำแหน่งดวงดาวสำคัญ ร่วมกับตำแหน่งดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ สอบเทียบวันเดือนปีในจารึกเป็นปฏิทินเกรกอเรียนได้ ที่สำคัญมีการประยุกต์ใช้ความรู้เรื่องการหมุนควงของจุดวิษุวัต มาใช้ในการไขอายุของศาสนสถานและโบราณสถานได้
9. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบแห่งที่ 4 ของไทย พร้อมเปิดดำเนินการปลายปี 2566
10. ดาราศาสตร์เพื่อคนทั้งมวล ผลักดันโครงการนำร่องเพื่อศึกษา และผลิตต้นแบบสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และกระตุ้นให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็น สามารถสร้างจินตนาการ และเรียนรู้ดาราศาสตร์ได้ทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป