สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2566 รางวัลระดับดี สาขาปรัชญา ให้กับผลงานประดิษฐ์คิดค้น เรื่อง “นวัตปะการัง : ปะการังเทียมที่มีโครงสร้างเลียนแบบธรรมชาติ ด้วยกระบวนการออกแบบชีวจำลอง” ผลงานของรองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ และคณะ แห่งคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ท้องทะเลให้อุดมสมบูรณ์
รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของสิ่งประดิษฐ์นี้ว่า สมัยเป็นครูสอนดำน้ำ เมื่อดำน้ำจะเห็นปะการังเทียมที่ส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมทำจากปูนซีเมนต์ซึ่งจะรู้สึกขัดตาเวลาที่เห็น ขณะเดียวกันมองว่าการทำปะการังเทียมดังกล่าวยังไม่ได้นำหลักวิทยาศาสตร์มาใช้และต้องรอให้ปะการังธรรมชาติมาเกาะให้เต็มก่อนถึงจะสวยซึ่งจะใช้เวลาหลายปีมาก จึงมีแนวคิดที่จะทำปะการังที่วางแล้วสวยเลยและมีฟังก์ชันแบบปะการังธรรมชาติได้ทันที
จึงพัฒนา “นวัตปะการัง” โดยเริ่มศึกษาฟังก์ชั่นต่าง ๆ จากปะการังธรรมชาติจนได้ปะการังเขากวางซึ่งมีลักษณะการเรียงตัวเป็นธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะสามารถชะลอกระแสน้ำแล้วยังนำตัวอ่อนของปะการังธรรมชามา เกาะได้ทนขึ้นกว่าการวางไว้เฉย ๆ นอกจากนี้ยังออกแบบเป็นก้อนขนาดเล็ก สะดวกในการนำไปประกอบ ในน้ำทะเลได้ง่ายขึ้น
รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา กล่าวว่า สิ่งที่ “นวัตปะการัง” แตกต่างจากปะการังเทียมทั่วไป คือ รูปลักษณ์ภายนอกที่กลมกลืนกับธรรมชาติ ประสิทธิภาพในการเพิ่มพื้นที่ผิวของนวัตปะการังจะมีมากกว่าที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมเดิมกว่า 10 เท่า เวลาที่ใช้ในการที่ปะการังแท้จะมาเกาะติดและเติบโตเร็วกว่าเดิม และยังสามารถใช้ทำเป็นสถานีงานวิจัยอื่น ๆ ต่อไปได้ อาทิ สถานีวัดน้ำ หรือติดกล้องไว้ดูแนวปะการังได้ ปัจจุบัน “นวัตปะการัง” ได้มีการนำลงไปวางในหลายพื้นที่ในหมู่เกาะแสมสาร จังหวัด และจังหวัดภูเก็ต
สำหรับนวัตปะการัง สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับปะการังเทียมในอนาคต พัฒนาเป็นแนวปะการังเทียมเพื่อการท่องเที่ยวทดแทนแนวปะการังจริงรวมถึงสร้างเป็นพื้นที่สำหรับการฝึกดำน้ำ แหล่งศึกษาวิจัยระบบนิเวศแนวปะการัง แหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำเพื่อส่งเสริมพื้นที่สำหรับการประมง เพิ่มโอกาสในการเกิดอาชีพใหม่ สามารถสร้างรายได้ ทำให้เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้ประดิษฐ์จะเข้ารับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 และจัดแสดงผลงานในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร