“ดีป้า” เผยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งสัญญาณบวก พร้อมเดินหน้าสู่อุตสาหกรรม 4.0
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยในงาน “Thailand: Driving Towards Industry 4.0” ว่า ระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ดีป้า ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนประชากร เกษตรกร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และชุมชน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างรายได้และลดต้นทุน ควบคู่ไปกับการพัฒนาดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย เพื่อให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ (Ecosystem) ผ่านการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และโครงการ Thailand Digital Valley ที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือ ผู้ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง (Deep Tech) เข้ามาลงทุนในประเทศไทยและเกิดการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สนองตอบนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดีป้า จึงได้ร่วมมือกับ UNIDO ทำการสำรวจข้อมูลสถานภาพการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรมไทยในแต่ละกระบวนการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลฐาน (Baseline) ต่อยอดสู่การจัดทำนโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร ดีป้า กล่าวว่า ผลการศึกษาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรมปี 2563 สำรวจจากอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมสิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ จากประชากรในอุตสาหกรรมการผลิตกว่า 29,000 ราย ในขั้นตอนการติดต่อซัพพลายเออร์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต ความสัมพันธ์กับลูกค้า และการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรม 1.0 ในทุกภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ 5-10 ปีข้างหน้า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ในอุตสาหกรรม 1.0 ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อซัพพลายเออร์ที่ยังคงส่งคำสั่งซื้อด้วยเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีโครงสร้างข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน หรือการติดต่อผ่านอีเมลหรือเอกสารแนบในรูปแบบไฟล์พีดีเอฟ กระบวนการผลิตที่ยังคงใช้เครื่องจักรที่ไม่ใช่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ยังคงเป็นการติดต่อในรูปแบบอนาล็อคและแมนนวล
ส่วนขั้นตอนที่มีแนวโน้มปรับขึ้นมาอยู่ในอุตสาหกรรม 2.0 ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยจะเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบและผลิต (Computer-Aided Manufacturing) หรือซอฟต์แวร์อื่นที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงการบริหารจัดการธุรกิจด้วยระบบสารสนเทศแบบบูรณาการ หรืออาจเป็นการใช้ระบบ Enterprise Resource Planning (ERP)
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งสามารถบ่งชี้ได้ว่า ประเทศไทยกำลังเร่งขับเคลื่อนไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และมีการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพราะดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังขาดแคลนกำลังคนดิจิทัล ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มสำคัญในการสร้างความได้เปรียบ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทย โดยกำลังคนดิจิทัลที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตและสามารถแข่งขันในตลาดสากล บัณฑิตจบใหม่ต้องพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยมีทักษะดิจิทัลตรงตามที่ตลาดแรงงานต้องการ ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านโลจิสติกส์และการจัดการสินค้าคงคลัง ความปลอดภัยไซเบอร์ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) ดังนั้นจึงต้องมีการอัพสกิล หรือรีสกิลกำลังคนกลุ่มนี้ก่อนเข้าสู่ตลาด ซึ่งผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมจึงเป็นเสียงสะท้อนว่า ประเทศไทยสามารถเข้าใกล้ไทยแลนด์ 4.0 ได้มากน้อยเพียงใดจากภาคแรงงานและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโดยตรง
สำหรับรายงานผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรม ดีป้า ได้เผยแพร่สู่สาธารณะ และเปิดให้เข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์ ดีป้า (www.depa.or.th) และเฟซบุ๊ก depa Thailand เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปต่อยอดในการพัฒนาธุรกิจของตนเองได้ รวมถึงผลสำรวจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดิจิทัลในมิติต่าง ๆ ที่ ดีป้า ดำเนินการ