สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และ บริษัท โชคนำชัย ไฮ-เทค เพรสซิ่ง จำกัด ร่วมลงนามความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่ง และโลจิสติกส์ของไทยทั้งรถ ราง เรือ ให้มีกระบวนการพัฒนาอย่างครบวงจร ตั้งแต่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ในการออกแบบ, พัฒนา, ผลิต, ทดสอบ และรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล จนถึงสามารถออกเป็นผลิตภัณฑ์ยานพาหนะสมัยใหม่ทางด้านขนส่งลงสู่ตลาดไทย รวมถึงการส่งออกต่างประเทศได้
นายนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย กล่าวว่า ในฐานะเอกชนที่มีความพร้อมทางด้าน Technology ต่าง ๆ และได้เริ่มพัฒนานวัตกรรมด้านขนส่งที่ก้าวข้ามการทดลองในระดับต้นแบบ เป็นผลิตภัณฑ์จริงลงสู่ตลาดหลายรายการ เช่น เรือนวัตกรรมอลูมิเนียมเครื่องยนต์, เรือไฟฟ้าท่องเที่ยววิ่งทะเลลำแรกของไทย, รถมินิบัสตัวถังอลูมิเนียมคันเดียวในตลาดโลกที่ผลิตและประกอบในสายการผลิตหุ่นยนต์, ต้นแบบรถเมล์ไฟฟ้าที่เป็นโครงการร่วมระหว่าง กฟน., กฟผ. กฟภ. ขสมก. และสวทช. รวมถึงโครงการพัฒนารถไฟโดยสารระบบไฮบริดดีเซล เป็นต้น
“จากประสบการณ์ การจะทำผลิตภัณฑ์ในระดับอุตสาหกรรมให้สามารถขายในตลาดสากลได้นั้น มีข้อจำกัดคือ ส่วนใหญ่ประเทศเรายังไม่ได้ผลิตเองตั้งแต่ R&D มีแค่เริ่มต้นจากการรับ Drawing หรือแบบมาจากต่างประเทศมาผลิตชิ้นส่วน ดังนั้นเราจะมีมาตรฐานหรือการทดสอบเน้นไปที่ชิ้นส่วนย่อยที่เป็นส่วนประกอบเท่านั้น แต่หากจะพัฒนาไปในทิศทางที่สามารถมี Brand เป็นของตัวเองได้ จะต้องเริ่มตั้งแต่การกำหนดคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์, การออกแบบทางด้านวิศวกรรมเต็มรูปแบบ, การพัฒนาแม่พิมพ์และชิ้นส่วน, การใช้วัสดุสมัยใหม่, การประกอบผลิตแบบอุตสาหกรรม, ระบบ System integration, การทดสอบชิ้นส่วนหลัก และตัวผลิตภัณฑ์ให้ผ่านการรับรองโดยสถาบันไทยให้ได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งการลงนามครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่หน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญอย่าง วว. ,สวทช. และ สมอ. เป็นผู้นำในการผลักดันและปลดล็อคข้อจำกัดที่กล่าวมา”
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนนโยบายด้านขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ ให้เกิดการพัฒนาชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ที่ผลิต ทดสอบ และรับรอง คุณภาพตามมาตรฐานสากล ลดการนำเข้าและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี
“เป้าหมายแรกในการดำเนินงานร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงาน คือ การร่วมมือในการผลักดันให้เกิดการผลิตรถไฟพร้อมตู้โดยสารที่เป็นแบรนด์ของคนไทยเป็นครั้งแรก โดยจะเป็นรถไฟสำหรับการเดินทางระหว่างเมืองของประชาชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งขบวนรถไฟดังกล่าวต้องมีมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยเทียบเท่าระดับสากล ผ่านการทดสอบและการรับรองโดยหน่วยงานรัฐจากทั้ง 2 หน่วยงาน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญให้แก่อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ไทยในการผลิตชิ้นส่วนทดแทนการนำเข้าแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีความยั่งยืน” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
สำหรับบทบาทสำคัญของหน่วยงานทั้งสาม จะดำเนินงานสนับสนุนงานเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ดังนี้ คือ วว. พร้อมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมโดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง ทั้งด้านการพัฒนามาตรฐาน การทดสอบและการรับรอง รวมถึงการต่อยอดการวิจัยพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดย วว. มีศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง หรือ ศทร. ที่ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของประเทศไทยในด้านการทดสอบวัสดุชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น ยานยนต์และระบบราง เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นหน่วยงานชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน
บริษัท โชคนำชัย ไฮ-เทค เพรสซิ่ง จำกัด เป็นบริษัทคนไทยที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงในการประกอบการด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้แก่ค่ายรถยนต์ชั้นนําทั้งในและต่างประเทศ บริษัทฯ ยังมีผลงานโดดเด่นในการสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ให้แก่อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ไทย บริษัทฯ พร้อมรับนโยบายในการพัฒนาการสร้างนวัตกรรมด้านการขนส่งสาธารณะ ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ
ด้าน สวทช. สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สนับสนุนกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี สนับสนุนบุคลากรร่วมจัดทำมาตรฐาน การทดสอบ และการรับรองผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อรับทุนจากหน่วยงานภายนอก
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. เปิดเผยว่า สวทช. ให้ความสำคัญกับการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะมาโดยตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การออกแบบ วิจัยวัสดุ การขึ้นรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ การออกแบบโครงสร้างยานยนต์ และการใช้ระบบอัตโนมัติมาช่วยในการผลิต เพื่อการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากยานยนต์พลังงานฟอสซิลไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยที่ผ่านมา สวทช. ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาในหลายด้าน อาทิ การพัฒนาแบตเตอรี่ มอเตอร์และระบบควบคุม ระบบวีซียู โครงสร้างน้ำหนักเบา สถานีอัดประจุ หรือแม้แต่การนำระบบ IoT และ IT ที่เข้ามาช่วยเหลือในการบริหารจัดการพลังงานและการผลิต ตลอดจนการร่วมทำมาตรฐานกับ สมอ. การพัฒนากำลังคนร่วมกับภาคการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมรองรับความต้องการกำลังคนด้านยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า การลงทุนด้านการทดสอบแบตเตอรี่และชิ้นส่วนทางไฟฟ้า ซึ่ง สวทช. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกับทั้ง 3 หน่วยงานเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยสามารถผลิตยานพาหนะพลังงานสะอาด ที่สามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ