“ดีอีเอส” จัด “Gov Cloud 2020” ชูศักยภาพคลาวด์กลางภาครัฐ ขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลยกระดับการให้บริการประชาชน ปลื้มเฟสแรกเต็มแล้ว เล็งเฟส 2 รองรับความต้องการล้นถึงปี 2565
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงาน“Gov Cloud 2020” The Future of Digital Government ซึ่งจัดโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สํานักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT โดยมี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส พร้อมผู้บริหารกระทรวงฯ และหน่วยงานภายใต้กำกับ ให้การต้อนรับ
พลเอกประยุทธ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Gov Cloud : Digital Foundation for Government Transformation” ว่า การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลดิจิทัลเกิดขึ้นบนโครงสร้าง GDCC หรือ Government cloud และจะไม่หยุดเพียงระดับของการให้บริการด้านดิจิทัลเท่านั้น โดยก้าวต่อไปของรัฐบาลดิจิทัล คือการยกระดับระบบงานภาครัฐบน Government Cloud ให้เกิดเป็น Government as a Platform หรือแพลตฟอร์มกลางภาครัฐ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมอำนวยความสะดวกเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนผ่านคลาวด์กลาง ซึ่งจะเกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นในทุกภาคส่วน แบบเรียลไทม์ทันสถานการณ์ รวมไปถึงการจัดทำระบบข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open data) ที่จะเพิ่มศักยภาพและความโปร่งใสของข้อมูลภาครัฐในด้านต่างๆ ทั้งด้านบริการประชาชน ด้านการเงิน ด้านสาธารณสุข ด้านพลังงาน ด้านการท่องเที่ยว ด้านการสื่อสาร และด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ฯลฯ และยังเป็นการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศไทยในกระแส New Normal และสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ความสำเร็จเบื้องต้นที่น่าพอใจคือจำนวนหน่วยงานที่ใช้งาน Gov Cloud เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ระบบของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งได้เริ่มมีการใช้งานจริงในการแก้ไขปัญหาและให้บริการต่างๆ โดยหน่วยงานที่ใช้ระบบคลาวด์ GDCC ในการพัฒนาระบบงานและเพิ่มประสิทธิภาพบริการประชาชนได้เข้ารับมอบโล่เกียรติคุณจากนายกรัฐมนตรีในงาน Gov Cloud 2020 ได้แก่ 1. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พัฒนาระบบ EEC-OSS โดยเป็นช่องทางคัดกรองและอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน สามารถเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำด้วยบริการแบบ One-Stop Service 2. กรมการขนส่งทางบก ผลงาน ‘Smart Bus Terminal’ ระบบติดตามรถโดยสารประจำทาง แสดงตารางการเดินรถแบบเรียลไทม์ของสถานีขนส่ง 81 แห่งทั่วประเทศ ผ่าน GPS Tracking ที่ติดตั้งบนรถโดยสารประจำทางทุกคัน สามารถตรวจสอบข้อมูลการเดินทางได้ตลอดเวลา
3. ตำรวจภูธรภาค 8 พัฒนาระบบโครงการภาค 8 “4.0” ในแอปพลิเคชัน POLICE 4 ด้วย 4 ฟังก์ชั่นที่โดดเด่น คือ Crime Mapping แผนที่อาชญากรรมหลายมิติ, CCTV Mapping แผนที่กล้องวงจรปิดทุกตัว, Red Box QR Code ใช้แทนสมุดตรวจแบบเดิม และ Stop Walk Talk and Report ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่แบบเรียลไทม์ 4. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบ Digital Healthcare Platform เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลสาธารณสุขซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกระบบที่เกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด-19 มาไว้ส่วนกลาง ทำให้สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 5. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน จัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ หรือ NEIC (National Energy Information Center) ซึ่งเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยน เชื่อมโยง บูรณาการและเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานให้กับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ คาดการณ์ด้านพลังงานได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ระบบคลาวด์กลางหรือ Gov Cloud จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านไอทีให้กับรัฐบาลเพื่อก้าวสู่การทำงานแบบรัฐบาลดิจิทัลตามแผน โดยปี 2563 ได้เน้นบริหารจัดการ Cloud Infrastructure เพื่อให้บริการทรัพยากรระบบคลาวด์แก่หน่วยงานรัฐซึ่งล้วนมีความตื่นตัวกับเทคโนโลยีและให้ความสนใจอย่างมากในการนำระบบงานมาใช้บนคลาวด์กลาง ภายในปี 2564 มุ่งสู่การสร้างบริการระดับแพลตฟอร์มที่ทุกหน่วยงานสามารถเชื่อมต่อกันได้ จากนั้นปี 2565 โฟกัสการขยายผลการใช้ AI ในด้านเกษตรกรรม และด้านอื่น ๆ รวมทั้งการนำร่องระบบ Data Sharing มีการแบ่งปันข้อมูลข้ามหน่วยงานผ่านแพลตฟอร์มกลางเพื่อขยายผลนำไปสู่การใช้ AI และ IoT ในวงกว้าง และภายในปี 2566 มุ่งสู่การขับเคลื่อนนโยบายการให้บริการข้อมูลภาครัฐแบบเปิดในรูปแบบ Government as a Platform ที่มีการบูรณาการข้อมูลร่วมกันด้วยแพลตฟอร์ม มุ่งไปสู่การให้บริการภาครัฐแบบเปิดอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ Gov Cloud ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานภาครัฐเกินคาดหมาย จากความตื่นตัวของภาครัฐในการให้บริการประชาชนผ่านระบบดิจิทัล หลังจากโครงการ Gov Cloud เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2562 ได้มีหน่วยงานรัฐเข้าใช้งานระบบเต็มจำนวนในเฟสแรกโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการโอนย้ายระบบงานขึ้นสู่เซิร์ฟเวอร์เสมือน (Virtual Machine) 21,000 VM จำนวนนี้รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่ใช้งานระบบ G-Cloud ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) ที่ต้องโอนย้ายระบบงานทั้งหมด 3,500 VM มายัง Gov Cloud และยังคงมีคำขอเข้าใช้ระบบในคิวเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดคำขอใช้บริการรวม 472 หน่วยงาน รวม 1,570 ระบบงาน หรือประมาณ 24,118 VM ซึ่งเกินกว่าที่โครงการได้จัดเตรียมไว้ ซึ่งสดช. มีแผนขยายโครงการในเฟส 2 เพิ่มจำนวนเซิร์ฟเวอร์เสมือนเพื่อรองรับความต้องการของหน่วยงานรัฐที่รอใช้ระบบ ซึ่งตามแผนได้มีการกำหนดให้บริการหน่วยประมวลผลรวม 32,000 VM ภายในปี 2563 พร้อมกับเน้นการสร้างบุคลากรไอทีภาครัฐให้มีทักษะด้านคลาวด์คอมพิวติ้งด้วยหลักสูตร GOCC โดยที่ผ่านมาได้จัดอบรมแล้ว 4 รุ่น พัฒนาเจ้าหน้าที่ไอทีภาครัฐกว่า 500 คน ให้สามารถบริหารระบบคลาวด์ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ